ความท้าทายที่รอคอย | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

ความท้าทายที่รอคอย | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“ลุ้น” คือ การเอาใจช่วย สนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยใจจดจ่อ ช่วงที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยจะเกิดอาการลุ้นใน 2 เหตุการณ์ คือ หนึ่ง ลุ้นผลการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ FIFA World Cup ที่จัดขึ้นโดยมีประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพ และ สอง ลุ้นว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะเป็นเช่นไรในปี 2566

หลายสถาบันวิจัยรวมถึงนักวิชาการต่างเสนอบทวิเคราะห์ถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยน่าจะเผชิญในปี 2566 ซึ่งสามารถรวบรวมความท้าทายหลักๆ ได้ดังนี้

ความท้าทายที่หนึ่ง วิกฤติแห่งความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ปรากฏอย่างชัดเจนคือ ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับกลุ่มประเทศในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) โดยมีสหรัฐเป็นหัวหอก และมีประเทศยูเครนเป็นเสมือนตัวแทนสงคราม (Proxy war) 

ความขัดแย้งในครั้งนี้ ส่งผลกระทบไปทั่วโลกและก่อให้เกิดวิกฤติในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติราคาพลังงาน วิกฤติด้านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งที่สุดแล้วได้นำไปสู่วิกฤติอาหารโลก เป็นต้น 

ความท้าทายที่รอคอย | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

อีกหนึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ประชาคมชาวโลกจำต้องลุ้นและไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐ โดยมีไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) เป็นเสมือนตัวแทนสงคราม

ความท้าทายที่สอง ความผันผวนและปั่นป่วนของตลาดเงินโลก เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกประสบภาวะการเกิดขึ้นของเงินเฟ้อและเงินฝืดในเวลาเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า “Stagflation

และมีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวการณ์เช่นนี้ต่อไปอีกสักระยะ ซึ่งกดดันให้ธนาคารกลางของหลายประเทศจำต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (FED) 

ในกรณีของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน แต่จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเฉกเช่นสหรัฐ และแน่นอนที่สุด การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSMEs) ที่อาจจำต้องลุ้นว่าธุรกิจของตนจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดกับภาวการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น

ผลกระทบที่ตามมาอย่างต่อเนื่องคือ การอ่อนค่าของเงินบาท และการที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ทั้งนี้เป็นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อผลิตและส่งออกเป็นหลัก 

ความท้าทายที่รอคอย | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

ในมุมหนึ่ง ประโยชน์ของการอ่อนค่าของเงินบาท ย่อมส่งผลกระทบทางบวกต่อการส่งออก แต่ในทางกลับกัน การอ่อนค่าของเงินบาทก็คือ สาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ผลกระทบทางบวกต่อภาคการส่งออก อาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ เหตุเพราะการถดถอยของสภาพเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สามที่ต้องลุ้นกันต่อไป

ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ ที่ประสบกับปัญหาการก้าวกระโดดของอัตราเงินเฟ้อ ปัญหาเรื่องของราคาอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

หรือจีนที่ประสบปัญหาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจหลายสำนักหวั่นเกรงว่าเศรษฐกิจของจีนจะประสบกับภาวะฟองสบู่แตกในอนาคตอันใกล้ 

รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศในยุโรป ที่มีสัญญาณแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความถดถอย อย่างต่อเนื่อง การถดถอยของเศรษฐกิจโลกย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยอย่างแน่นอน

ท่ามกลางความท้าทายในด้านลบ ก็ยังคงมีความท้าทายในด้านบวกอยู่สำหรับประเทศไทย กล่าวคือ การฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่รัฐบาลไทยตัดสินใจเปิดเมือง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ภายหลังการลดลงของภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น 

ความท้าทายดังกล่าวนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของภาครัฐที่จะต้องมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ต้องมีนโยบายในหลากหลายมิติเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายอย่างแท้จริงของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และต้องไม่ละเลยที่จะมีนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย

กล่าวได้ว่า ความท้าทายดังกล่าวข้างต้นถือเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือรัฐบาลชุดใดก็ตามที่จำต้องมีนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับกับปัญหาทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว

และมีแนวโน้มเด่นชัดว่ากำลังจะเกิด หากพิจารณาผ่านมิติทางการเมือง ก็เชื่อกันว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในระยะเวลาอันใกล้ 

ดังนั้นคงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย หากแต่ละพรรคการเมืองจะคำนึงถึงความท้าทายดังกล่าวข้างต้น และนำไปผลิตเป็นนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียง และหากนโยบายใดของพรรคการเมืองไหน

สามารถถูกอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงการรับมือต่อปัญหาได้อย่างแท้จริง ลดอาการลุ้นด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ก็เชื่อได้ว่าพรรคการเมืองนั้นน่าจะได้ดำรงสถานภาพการเป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งอย่างมิต้องสงสัย