พลังงานรอเคาะเงินกู้เฟส 2 ‘พยุง’ กองทุนน้ำมันฯ

พลังงานรอเคาะเงินกู้เฟส 2 ‘พยุง’ กองทุนน้ำมันฯ

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เตรียมกู้เงินรอบ 2 เร่งเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ คาดได้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ยืนยันกองทุนยังมีเสถียรภาพ ล่าสุดติดลบลดลงเหลือ 1.2 แสนล้านบาท

ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ เผยผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 ระบุว่ากองทุนฯ ต้องเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตพลังงานโลก โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย - ยูเครน โดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซลปี 2565 อยู่ที่ 135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยพยุงราคาพลังงานในประเทศทั้ง น้ำมันดีเซล และก๊าซ LPG อย่างต่อเนื่อง จนสภาพคล่องกองทุนฯติดลบกว่า 130,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการคลังผ่านกลไกอนุกรรมการฯ ภายใต้
คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกบน.เพื่อจัดหาแนวทางการกู้ยืมเงิน และคณะรัฐมนตรีได้ออก พ.ร.ก. ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้ว กรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท ทาง สกนช.ได้ดำเนินการกู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาท ลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้วกับธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน ปัจจุบันได้ใช้หนี้ให้กับลูกค้ามาตรา 7 ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท เหลือวงเงินอีก 10,000 ล้านบาท เตรียมจ่ายหนี้เพิ่มเติมในช่วงเดือนมกราคมนี้

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565 ราคาน้ำมันในตลาดอ่อนตัวลงทำให้กองทุนฯสามารถจัดเก็บเงินเข้ากองทุนได้กว่า 8-9 พันล้านบาท ส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลง ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันชื้อเพลิง วันที่ 1 มกราคม 2566 ติดลบอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท

โดยวันที่ 9 มกราคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะจะประชุมบอร์ดพิจารณากรอบวงเงินกู้เฟส 2 เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยประเมินว่าจะได้วงเงินกู้ไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคมนี้

สำหรับในปี 2566 สิ่งที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องดำเนินการในประเด็นหลัก คือการบริหารจัดการ
สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ คือการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่ยังมีความผันผวนจากการสู้รบในยูเครน

นอกจากนี้ จะมีการทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่
เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการเชื่อมโยงระบบเพื่อพัฒนาในการรับจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น