"ปตท." เร่งปิดดีล "จีน-ยุโรป" ผลิตอีวี "ฟ็อกซ์คอนน์" ส่งทีมเซ็ตโรงงานผลิต

"ปตท." เร่งปิดดีล "จีน-ยุโรป" ผลิตอีวี "ฟ็อกซ์คอนน์" ส่งทีมเซ็ตโรงงานผลิต

ปตท. เร่งเครื่องธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า “ฮอริษอนพลัส” ลุยแผนสร้างโรงงานผลิตอีวีในไทยที่ชลบุรี ตั้งเป้าส่งมอบคันแรกปี 2567 คาดผลิตได้ 5 หมื่นคัน ก่อนทยอยเพิ่มกำลังผลิต 1.5 แสนคัน เร่งปิดดีลลูกค้า “ยุโรป-จีน” คาดเจรจาสำเร็จอย่างน้อย 2 ราย ภายในไตรมาส 1 ปี 2566

กลุ่ม ปตท.ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างเต็มตัวแล้ว หลังจากบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทอรุณ พลัส จำกัด (บริษัทลูก ปตท.) กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตอีวี ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ไปเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2565 บนพื้นที่ 313 ไร่

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม EV Hub of Asia โดยที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.ได้สร้าง Ecosystem อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสู่ฐานการผลิตตามแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของกลุ่ม ปตท.

สำหรับการลงทุนดังกล่าวดำเนินการตามแนวคิด BOL (Build-Operate-Localize) และเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยโรงงานจะตั้งบนฐานการผลิตพื้นที่ 500,000 ตร.ม.เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม (ICE) ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ออกแบบและผลิตตามสัญญา เพื่อให้บริการเจ้าของแบรนด์ทุกรายที่ต้องการผลิตรถยนต์ในไทย โดยใช้แพลตฟอร์ม MIH ในการปรับปรุงโฉมการผลิตอีวีทั่วโลก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอร์ฟแวร์สำหรับอีวีทั่วโลก

บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด จะลงทุน 37,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างอุปกรณ์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยตั้งเป้าสร้างเสร็จและถึงขั้นตอนการส่งมอบการผลิตในปี 2567 และในเบื้องต้นจะมีกำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียนที่เพิ่มขึ้นภายในปี 2573 ทั้งนี้ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด จะทำหน้าที่บริการเจรจาหาลูกค้าฝั่งยุโรป-จีน

นายเอกชัย ยิ้มสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ผู้นำด้านระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรหนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. กล่าวว่า หลังจากการวางศิลาฤกษ์โรงงานดังกล่าวแล้ว บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ได้ดำเนินการเจรจากับพันธมิตรที่จะมีเป็นลูกค้าของโรงงาน

สำหรับลูกค้าที่กำลังเจรจาจะมาเป็นผู้จ้าง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ผลิตรถอีวีให้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการติดต่อหลายค่ายในหลายภูมิภาคทั้งฝั่งยุโรปและจีน ทั้งนี้ คาดว่าจะปิดดีลให้สำเร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2566 ราว 2 ราย 

ส่วนบริการหลังการขายขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อเตรียมความพร้อมที่ชัดเจนเมื่อเจรจากับลูกค้าแต่ละรายได้ เพราะรายละเอียดจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการเจรจาแต่ละดีลที่ในเบื้องต้นจะเร่งการผลิตเป็นลำดับ

ทั้งนี้ การลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถอีวีครั้งนี้ ถือเป็นเม็ดเงินหนึ่งในก้อนใหญ่แรก ๆ ของ ปตท. เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีวี ความสำคัญของโครงการนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ และคาดหวังในเรื่องของการรีเทิร์นในแง่ของธุรกิจ อีกมุมหนึ่ง เป็นเสมือนหัวใจที่ต้องวางไว้ให้เกิดให้ได้ เพื่อไปถึงจุดหมาย 2 ด้าน

โดยด้านแรกจะเป็นด้านต้นน้ำ เป็นเหมือนการลงทุนกลางน้ำที่สำคัญ ถือเป็นหัวใจหลักของ อีวี แวร์ลูเชน เพื่อที่จะไปฝั่งต้นน้ำ เมื่อโรงงานผลิตตั้งได้ตอมากลุ่มชิ้นส่วนหลัก ๆ ก็จะต่อยอดไปซัพพลายเชนอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เกิดการสร้างอุตสาหกรรมอีวีครบวงจร ในขณะที่ฝั่งปลายน้ำจะช่วยกระตุ้นการใช้งานอีวี ซึ่งเป็นของที่ผลิตในประเทศ

ฟ็อกซ์คอนน์ส่งทีมร่วมงาน ปตท.

“ตอนนี้ฟ็อกซ์คอนน์ส่งทีมงานหลาย 10 ชีวิตเพื่อเข้ามาอยู่ในฮอริษอน ทำหน้าที่เทรนด์งานและคอยสอนงานให้กับพนักงานของฮอริษอนซึ่งขณะนี้ เราก็ได้ทยอยรับพนักงานที่เป็นคนไทยเข้ามารองนรับการดำเนินงานซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงการก่อสร้าง และช่วงการตั้งโรงงาน เพื่อเตรียมพร้อมสู่การผลิตรถอีวีตามที่ลูกค้าต้องการต่อไป การก่อสร้างจะแล้วเสร็จสามารถเริ่มการผลิตและส่งมอบรถอีวีได้ในปี 2567 ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการจ้างงานที่ต้องใช้ทักษะสูงจำนวนกว่า 2,000 อัตรา”

สำหรับงบลงทุนโครงการกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของฮอริษอน พลัสมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 36,100 ล้านบาท จะแบ่งงบลงทุนออกเป็น 2 ส่วน โดยก้อนแรกจะลงทุนที่ 24,000 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าโรงงานดันกำลังผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ต้นปี 2567 กำลังการผลิตระยะแรกปีละ 50,000 คัน และงบประมาณที่เหลืออีกราว 12,000 ล้านบาท เป็นการขยายกำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน ในปี 2573 สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ภารกิจสำคัญของ ปตท.คือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในอนาคตการลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ยั่งยืนถือเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของ ปตท.ซึ่ง ฮอริษอน พลัส ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญด้วยโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรจะเป็นรากฐานที่ต่อยอดไปยังการพัฒนาส่วนอื่นๆทั้งต้นน้ำและปลายน้ำเช่นการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่อุปทานจากเครื่องยนต์สันดาปสู่รถอีวี”

ปตท.หวังวิจัยร่วม“ฟ็อกซ์คอนน์”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ไม่เพียงเพื่อลงทุนสร้างฐานการผลิตรถอีวีที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการเสริมสร้างทักษะบุคลากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ การลงทุนครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นว่ากลุ่มปตท.และบริษัทพันธมิตรจะดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ยิ่งไปกว่านั้นการรุกเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท.ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่ม ปตท.สามารถมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ที่ตั้งไว้ภายในปี 2050 ตอกย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยพลังแห่งอนาคตที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประเทศไทยเติบโตไปในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน

ปตท.เร่งขยายอีโคซิสเท็ม

รายงานข่าวจาก ปตท.ระบุว่า การลงทุนดังกล่าวอยู่ในกลุ่มธุรกิจ New Energy ที่ ปตท.ปรับพอร์ทการลงทุนขยายไปธุรกิจพลังงานใหม่ อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ดำเนินการผ่านบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งมีเป้าหมายผลิตขยายกำลังผลิตจากปีละ 50,000 คัน ขึ้นไปถึงปีละ 150,000 คัน ในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้รถอีวี ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนา PTT Group EV Ecosystem ที่สามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย

1.Raw Material เป็นการดำเนินการของบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน)

2.Production มีบริษัทอรุณพลัส จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยปัจจุบันดำเนินการผ่านบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด

3.Battery ดำเนินการผ่านบริษัท นูออโว พลัส จำกัด โดยดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนฟอสเฟต รวมทั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ร่วมกับ Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) ผู้นำด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ในภูมิภาคอาเซียน

4.Mobility Service โดยมีบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ ซึ่งมีการพัฒนา PTT fit auto เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า และมีการพัฒนา EVme แพลตฟอร์มที่บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าพร้อมบริการครบวงจรในประเทศไทย