เปิดงบฯ ลงทุน ‘คมนาคม’ ปี 67 วัดกึ๋นรัฐบาลใหม่จัดสรร 2 แสนล้าน
เปิดงบประมาณกระทรวงคมนาคมปี 2567 เม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาท วัดกึ๋นรัฐบาลใหม่จัดสรร ลุยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง
กระทรวงคมนาคมนับเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญของการกระตุ้นเม็ดเงินด้านการลงทุน ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าแม้การเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ มีผลประกาศอย่างไม่เป็นทางการ แต่การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งนำโดย “ก้าวไกล” ยังคงอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และหลายฝ่ายคาดว่าประเทศไทยน่าจะมีรัฐบาลใหม่อย่างสมบูรณ์ในเดือน ส.ค.2566
สำหรับกระทรวงคมนาคมนั้น มีโจทย์สำคัญที่ยังรอรัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการค้างท่อ และโครงการลงทุนที่อยู่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในปี 2567 กระทรวงคมนาคมมีงบประมาณรายจ่ายที่เคยประมาณการณ์และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณามาแล้ว ภายใต้กรอบวงเงินสูงถึง 238,002.05 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 30,431.54 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 207,570.50 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดของแผนจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ของกระทรวงคมนาคมนั้น แบ่งเป็น 9 ส่วนราชการ ประกอบด้วย
- กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรมากสุด วงเงิน 120,961.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 118,816.62 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 5,413.03 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 115,545.67 ล้านบาท
- กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับวงเงิน 47,928.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 47,108.91 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 1,447.96 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 46,480.25 ล้านบาท
- กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับวงเงิน 5,162.85 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 5,221.20 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 480.98 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 4,681.87 ล้านบาท
- กรมเจ้าท่า (จท.) ได้รับวงเงิน 4,773.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 4,707.40 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 916.74 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 3,856.31 ล้านบาท
- กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับวงเงิน 3,587.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 3,545.81 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,657.89 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 929.34 ล้านบาท
- สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับวงเงิน 677.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 514.50 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 442.30 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 235.42 ล้านบาท
- สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ได้รับวงเงิน 409.92 ล้านบาท เพิ่งได้รับจัดตั้งในปี 2566 แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 51.56 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 358.36 ล้านบาท
- สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับวงเงิน 282 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 282.12 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 159.88 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 122.12 ล้านบาท
- กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รับวงเงิน 167.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 116.33 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 128.71 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 39.12 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีงบประมาณรายจ่ายส่วนของ 5 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับจัดสรรกรอบวงเงินรวม 54,052.01 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 18,729.99 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 35,322.01 ล้านบาท ประกอบด้วย
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับจัดสรรมากที่สุด วงเงิน 23,457.74 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 5,825.42 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 17,632.32 ล้านบาท
- การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับจัดสรร 23,135.61 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 8,380.82 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 14,754.78 ล้านบาท
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รับจัดสรร เป็นรายจ่ายประจำทั้งหมด 4,416.78 ล้านบาท
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับจัดสรรเป็นรายจ่ายลงทุนทั้งหมด 2,866.79 ล้านบาท
- สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ได้รับ 175.08 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 106.96 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 68.12 ล้านบาท
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
อย่างไรก็ดี หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ ภารกิจแรกที่ต้องเร่งดำเนินการเห็นจะเป็นการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน เนื่องจากต้องรัฐบาลชุดใหม่จะต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณ และผลักดันงบประมาณรายจ่ายเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจากขั้นตอนทั้งหมดอาจจำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการ และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ การเข้ามาขับเคลื่อนเม็ดเงินลงทุนภายใต้งบประมาณสังกัดกระทรวงคมนาคม ท่ามกลางห้วงเวลาที่อาจมีเหลืออย่างจำกัด นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์หินที่ต้องวัดกึ๋นรัฐบาลใหม่ เพราะหากการจัดสรรงบประมาณสะดุด ท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งโอกาสของประชาชนต่อการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ซึ่งตามแผนงานของกระทรวงคมนาคมในปี 2567 มีโครงการลงทุนสำคัญต้องขับเคลื่อน อาทิ
- โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 16 แห่ง
- โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา
- โครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช – ศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ (M7)
- โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว