'เอเชีย เอรา วัน' ควักเดือนละ 70 ล้าน อุดส่วนต่างขาดทุน 'แอร์พอร์ต เรล ลิงก์'
การรถไฟฯ เปิดตัวเลข “เอเชีย เอรา วัน” บริหารรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พบขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 70 ล้านบาท เหตุผู้โดยสารยังไม่ฟื้นตัว
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการโอนสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยระบุว่า ขณะนี้ รฟท. ยังไม่ได้โอนสิทธิบริหารอย่างเป็นทางการในโครงการดังกล่าวให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด โดยกลุ่มซีพี ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เนื่องจากอยู่ระหว่างรอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนให้แล้วเสร็จ
โดยหลังจากแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ทางเอเชีย เอรา วัน จะต้องชำระค่าสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประมาณ 10,671 ล้านบาท แต่ทางภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ยื่นขอแก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุน ซึ่งรวมส่วนของการชำระค่าบริหารสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากเดิมต้องชำระให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 ปรับเป็นแบ่งจ่ายรายงวด
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับเอเชีย เอรา วัน เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทางเอกชนได้ชำระเงิน 1,067.10 ล้านบาท หรือ 10% ของค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ตามสัญญาร่วมลงทุนให้ รฟท.แล้ว เป็นการแสดงเจตนาที่จะเข้าบริหารโครงการตามเงื่อนไขกำหนดใน MOU
“ขณะนี้แม้ว่าทางภาคเอกชนจะยังไม่ได้รับมอบโอนสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์อย่างเป็นทางการ และยังไม่ได้ชำระค่าบริหารสิทธิให้กับการรถไฟฯ แต่ทางเอกชนยังคงจ่ายค่าเข้าบริหาร และดอกเบี้ยของการชำระสิทธิบริหารโครงการจากจำนวนเงินเต็ม 10,671 ล้านบาทให้กับการรถไฟฯ ทุกเดือน นอกเหนือจากการจัดเก็บรายได้ค่าโดยสารส่งให้กับการรถไฟฯ ทุกเดือน”
สำหรับเงื่อนไขใน MOU ได้ระบุด้วยว่า เอเชีย เอรา วัน จะต้องรับหน้าที่ให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเก็บรายได้ส่งให้ รฟท. หลังจากนั้นให้แจ้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเพื่อให้ รฟท.พิจารณา โดยกรณีที่มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย เอกชนต้องรับภาระเอง เช่น รายได้ 100 บาท แต่มีต้นทุน 170 บาท เอเชีย เอรา วัน ก็ต้องจ่ายส่วนที่เกินไป 70 บาท แต่หากรายได้สูงกว่ารายจ่าย ส่วนต่างกำไรต้องส่งมอบให้ รฟท.
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในปัจจุบันยังขาดทุนอยู่เดือนละประมาณ 70 ล้านบาท โดยทางเอเชีย เอรา วัน รับผิดชอบส่วนต่างของการขาดทุนที่เกิดขึ้น และหากนับตั้งแต่เอเชีย เอรา วัน เข้าบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 70 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีค่าใช้จ่ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
ขณะนี้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อยู่ที่เดือนละประมาณ 1.87 ล้านคน ขณะที่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 ผู้โดยสารอยู่ที่เดือนละประมาณ 2.5 ล้านคน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในช่วงที่ยังไม่ได้โอนสิทธิรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เอกชน ได้รับเสียงร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับงานบริการค่อนข้างมาก อาทิ แอร์ไม่เย็น ผู้โดยสารหนาแน่น และรอรถไฟฟ้านาน ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องของ รฟท. ลงไปตรวจสอบ และหารือกับทางบริษัทฯ เพื่อให้เร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ