กูรูห่วงตั้งรัฐบาลช้าสะเทือนเศรษฐกิจ ‘เอกชน’เริ่มเกียร์ว่างชะลอลงทุน

กูรูห่วงตั้งรัฐบาลช้าสะเทือนเศรษฐกิจ ‘เอกชน’เริ่มเกียร์ว่างชะลอลงทุน

นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงตั้งรัฐบาลช้ายิ่งซ้ำเติม ศก. ไทย “พิพัฒน์” เผย "เอกชน” เริ่มปล่อยเกียร์ว่าง ชะลอลงทุนรอดูท่าทีรัฐบาลใหม่ ด้าน “สมประวิณ” ห่วงนโยบายก้าวไกลเพิ่มภาระการคลังเสี่ยงทำหนี้สาธารณะพุ่ง “ทีดีอาร์ไอ” เผย “3 นโยบาย” พรรคก้าวไกล ส่อเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

Key Points

  • ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัยเผยเอกชน เริ่มปล่อยเกียร์ว่าง ชะลอลงทุนรอดูท่าทีรัฐบาลใหม่ 
  • ดร.สมประวิณ มันประเสริฐห่วงนโยบายก้าวไกลเพิ่มภาระการคลังเสี่ยงทำหนี้สาธารณะพุ่ง 
  • ดร.กิริฎา เภาพิจิตรเปิด “3 นโยบาย” พรรคก้าวไกล ส่อเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

หลังจากผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการประกาศออกมาว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนนิยมจากประชาชนมากเป็นอันดับหนึ่ง ทว่าเวลาผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ยังไม่มีความแน่นอนว่าหน้าตารัฐบาลจะเป็นอย่างไร “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนวิเคราะห์ผ่านเวทีเสวนา  “มหาพายุพัดกระหน่ำ เศรษฐกิจโลก เสี่ยงถดถอย” ภายในงาน “Investment Forum : New Chapter, New Opportunity” ซึ่งจัดขึ้นในวานนี้(15 มิ.ย.)

‘เอกชน’ เกียร์ว่างชะลอลงทุน

โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนมากมาย โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง (Political Uncertainty) และความไม่แน่นอนทางด้านนโยบาย (Policy Uncertainty) ของรัฐบาลในอนาคต

จากความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายและหน้าตารัฐบาลดังกล่าวส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชน “เกียร์ว่าง” ยังไม่ดำเนินการใดๆ ประกอบกับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจประเทศไทยที่สำคัญอย่าง ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปี 2565 นักท่องเที่ยวกลับมา 11 ล้านคน และปีนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะกลับมาประมาณ 28-30 ล้านคน อาจได้รับผลกระทบ เพราะหากเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองจนนักท่องเที่ยวกลัวและตัดสินใจยกเลิกการเดินทางมาประเทศไทยอาจกระทบเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมาก

“สุญญากาศคือคำที่น่ากลัว มันเชื่อมโยงกับการตัดสินใจและบริโภคของภาคเอกชนด้วย ประกอบกับเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่คือท่องเที่ยว แล้วถ้านักลงทุนกลัวจนยกเลิกการเดินทางมาเมืองไทย จากประเด็นเรื่องการเมืองไม่แน่นอน ก็จะกระทบการบริโภคอีกต่อหนึ่ง ซึ่งน่าห่วงมาก และจริงๆ แล้วตอนนี้ควรจะเห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะผ่านมาหนึ่งเดือน แต่ความชัดเจนยังเท่ากับวันแรกๆ หลังเลือกตั้ง”

เมื่อถามถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคก้าวไกล ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ยังมีช่องว่างที่สามารถปรับขึ้นได้อีก โดยประเทศไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดเมื่อปี 2555-2556 มาเป็น 300 บาท ถือเป็นการขึ้น 10% ในรอบ 10 ปี และเห็นได้ชัดว่าปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยโตไม่ทันเงินเฟ้อ และไม่สะท้อนการเติบโตด้านประสิทธิภาพ (Productivity Growth) ให้แรงงาน อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องจับตาคือสภาพเศรษฐกิจของปัจจุบันและเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

“ปี 2555-2556 เราไม่เห็นผลกระทบเงินเฟ้อและการลดการจ้างงาน ตอนนั้นเป็นการฟื้นตัวจากปี 2551 เมืองไทยเนื้อหอม และเป็นวงจรเศรษฐกิจที่ดีที่สุดของไทย แต่ปัจจุบันค่อนข้างน่ากังวลเพราะเศรษฐกิจอ่อนตัวลงมา”

ห่วงนโยบายรัฐบาลใหม่ดันหนี้สาธารณะพุ่ง

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน อีโคโนมิก อินเทลลิเจนซ์ เซนเตอร์ (Economic Intelligence Center)และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากพิจารณาภาระทางการเงินการคลังของประเทศไทย ทั้งจากรัฐสวัสดิการและสังคมสูงวัยจะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปที่ 66% แน่นอนอยู่แล้วในทศวรรษนี้

ขณะที่หลายนโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นนโยบายกระตุ้นระยะสั้นและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว แต่หลายนโยบายก็อาจเป็นภาระทางการคลัง ซึ่งหากพรรคฯ​ ไม่สามารถหารายได้มาเพิ่มเพื่อเสริมกับนโยบายที่ต้องการทำอาจทำให้อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นประมาณ 68%ในขณะที่กรอบเพดานหนี้อยู่ที่ 70%

สำหรับประเด็นเรื่องการปฏิรูปภาษี ซึ่งเป็นหนึ่งหนทางหารายได้ของพรรคก้าวไกล ดร.สมประวิณ กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าจะสามารถปฏิรูปภาษีได้ ปกติแล้วจะการทำนโยบายส่วนใหญ่จะทดลองใช้ก่อนเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หลังจากนั้นจะขอเก็บภาษี แต่ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแสดงให้เห็นชัดเจนว่าให้ประชาชนใช้ก่อนแล้วแต่ก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้อยู่ดี ที่เห็นได้ชัดคือประเทศญี่ปุ่น กว่าจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มใช้เวลาหลายปี

ดังนั้น หากปฏิรูปภาษีไม่ได้บวกกับเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย หนี้สาธารณะอาจเพิ่มตามอัตราส่วนดังกล่าว“ทั้งหมดจะเห็นว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลถอดแบบออกมาจากหนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องรอดูภาคปฏิบัติต่อไปว่าจะออกมาเป็นเช่นไร”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ดร.สมประวิณ กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเผชิญ 3 ปัญหาคือ

1.Unsynchronized คือเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงจังหวะที่ไม่สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน

2.Uneven คือเศรษฐกิจไทยเติบโตในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการทว่าองค์ประกอบภายในหลายส่วนอย่างภาคการส่งออกยังหดตัวอยู่

3.Uncertain คือประเทศไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่นอนทางการเมือง

“ระยะสั้นเราเชื่อว่าเศรษฐกิจขาขึ้น เราให้จีดีพีโต 3.9% ปีนี้ แต่วันนี้เราอยู่ภายใต้สามด้าน ด้านแรก โลกไม่ได้อยู่ในจังหวะที่ฟื้นคล้ายกัน สอง มีความไม่สม่ำเสมอ มากขึ้น และสามเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้นภาพวันนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนดี แต่ยังไม่วางใจ”

ห่วงตั้งรัฐบาลช้าลงทุนรัฐสะดุด

ด้าน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากตั้งรัฐบาลล่าช้างบประมาณของภาครัฐในไตรมาส 1 ปี 2567 ก็จะยังไม่ออกและจะใช้ได้เท่าเดิมกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าจะยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมใดๆ จากภาครัฐ

นอกจากนี้ ไม่เพียงนักลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้นที่นำความเสี่ยงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า (Price In) ในราคาสินทรัพย์เรียบร้อยแล้ว ทว่าความมั่นใจของนักลงทุนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจโดยตรงจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะบรรดานักลงทุนไม่มั่นใจว่านโยบายของรัฐบาลจะเป็นผลบวกหรือลบต่อการดำเนินธุรกิจของพวกเขา

“ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือนโยบายเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่รัฐบาลปัจจุบันให้โปรโมชันและให้เงินอินเซนทีฟผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลใหม่จะยังดำเนินนโยบายดังกล่าวอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ดำเนินต่อ ความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอาจลดลง นักลงทุนก็อาจจะชะลอการขยายการผลิต หรือถ้าต้องรอนานถึง 6 เดือนกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ นักลงทุนอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไฟประเทศเพื่อนบ้าน”

เมื่อถามว่าหากพรรคก้าวไกลสามารถตั้งรัฐบาลได้ นโยบายใดที่อาจเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย ดร.กิริฎา ระบุว่า มีทั้งหมด 3 นโยบาย

1. นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ: หากพรรคก้าวไกลสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 30% โครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนทันที คือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) บางรายอาจต้องปิดตัวหรือปรับตัวและนำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น ซึ่งในระยะยาวแนวโน้มเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) ของประเทศไทยอาจขยายตัวเร็วขึ้น

2. นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ: พรรคก้าวไกลต้องการลดช่องว่างไม่ใช่เพียงรายได้ระหว่างคนมีรายได้สูงและรายได้ต่ำเท่านั้น ทว่าต้องการลดช่องหว่างระหว่างความสามารถในการแข่งขันของบริษัททุนยักษ์ใหญ่และบรรดาเอสเอ็มอีด้วย ซึ่งหากทำได้จริงจะเปลี่ยนภูมิทัศน์การลงทุนในประเทศไทยระยะยาว

3. นโยบายกิโยตินกฎหมาย: ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนต้องการลดกฎระเบียบของภาครัฐที่กระทบภาคธุรกิจหลายฉบับ โดยกฎหมายบางชุดบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2524 และไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันแล้ว รวมทั้งมีความยุ่งยากและหลายขั้นตอน โดยที่ผ่านมาหลายภาคส่วนไม่สามารถลดกฎระเบียบดังกล่าวได้เพราะภาครัฐไม่ปฏิบัติตาม แต่หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลและมุ่งมั่นกับนโยบายนี้ จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งสำหรับนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ

ในประเด็นเรื่องการดำเนินงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based Budgeting) ดร.กิริฎา กล่าวว่า น่าติดตาม ทว่าการดำเนินนโยบายเช่นนี้ต้องทำให้รายรับมีค่าเท่ากับรายจ่าย ซึ่งหากประเมินค่าใช้จ่ายรายปีของพรรคก้าวไกลจากนโยบายต่างๆ ทีดีอาร์ไอคาดว่าอาจใช้งบประมาณประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเรื่องที่ต้องติดตามคือพรรคฯ จะหารายได้อย่างไร

“จะเพิ่มภาษีหรือโกยคนนอกระบบเข้าระบบ ทั้งหมดล้วนใช้เวลา ดังนั้นหากพรรคฯ ต้องการดำเนินนโยบายดังกล่าวจริงในช่วงแรกอาจจำเป็นต้องกู้สินเชื่อเพิ่ม ดังนั้นต้องยอมรับว่าหากจะทำจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย”