กนอ.นำทัพ10ผู้พัฒนานิคมฯ บุกญี่ปุ่นดึง‘นาโกย่า’ลงทุนไทย
กนอ. นำทัพ 10 ผู้พัฒนานิคมฯ โรดโชว์นาโกย่า ศูนย์กลางผลิตญี่ปุ่น ดึงอุตฯ พลังงานทดแทน เหล็ก แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายลงทุนในไทย ตั้งเป้าลงทุน 3,700 ล้านบาท และยอดขาย/เช่านิคมฯ 200 ไร่ ย้ำเชื่อมั่น “EEC” ยังเดินหน้าต่อ พร้อมดันโปรเจ็กต์ใหญ่ให้เสร็จภายในสิ้นปี 67
บริษัทญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีจำนวน 1,951 ราย มีมูลค่าการลงทุนสะสม 3,10 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่า 70% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ อุตสาหกรรมยาง พลาสติกและหนังเทียมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์
โดยที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้จัดกิจกรรมโรดโชว์เพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดโรดโชว์ที่เมืองนาโกย่า ระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย.2566
การโรดโชว์ครั้งนี้ กนอ.นำคณะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ 10 ราย ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท นิคมอุตสากรรมเอเชีย จำกัด, บริษัท วีเอ็นเอส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เอส อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด, บริษัท เอเชีย คลีน อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด, บริษัท อุบลราชธานี ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด, บริษัท เอ็ท ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ในหัวข้อ “Manufacturing Game Changers! It’s Time for Thailand” ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย.2566
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การจัดโรดโชว์ในครั้งนี้เพื่อแสดงถึงศักยภาพความพร้อมรับการลงทุนของนิคมอุตสาหกรรมไทย โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) โดยมีเป้าหมายชักจูงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเหล็ก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ เมืองนาโกย่าถือเป็นเมืองการผลิตอันดับที่ 3 ของประเทศ โดยเฉพาะสายการผลิตรถยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม วิศวกรรมหุ่นยนต์ และเครื่องยนต์อากาศยาน และยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า ซูซูกิ และฮอนด้า มอเตอร์ รวมถึงเป็นเมืองศูนย์การการขนส่งทุกระบบทั้งทางราง ทางน้ำ และอากาศ โดยมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในประเทศ
“ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก พลังงานทดแทน แบตเตอรี่และชิ้นส่วนยานยนต์ คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนมูลค่า 3,700 ล้านบาท และมียอดขาย/เช่า นิคมฯ ราว 200 ไร่ โดย กนอ.ได้เน้นย้ำความเชื่อมั่นกับนักลงทุนเกี่ยวกับโครงการอีอีซีว่าแม้จะมีรัฐบาลใหม่ แต่นโยบายจะยังเดินหน้าต่อ รวมถึงมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV 3.5) และจะเร่งผลักดัน 4 โปรเจ็กต์ใหญ่ โดยเฉพาะท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2567”
นอกจากนี้ คณะของ กนอ. ยังมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ประกอบการปัจจุบัน (Customer Visit) ที่ประกอบกิจการในนิคมฯ ไทย 4 ราย รวมทั้งพบกับนักลงทุนรายใหม่ จากกลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออก การผลิต ขนส่งและโลจิสติกส์ เหล็ก เคมี และยานยนต์
ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย โดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) เพื่อรองรับมาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และข้อเรียกร้องเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับที่ยังเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ
ซึ่ง กนอ.ได้ชี้แจงไปว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องโดย กนอ.มีแผนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ (Solar Floating) ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำสำรอง แต่ยังติดปัญหาเรื่องการเชื่อมระบบการจ่ายไฟ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
นอกจากนี้ กนอ.ยังมีแผนพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานจากลม ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากนอกนิคมอุตสาหกรรม กำลังผลิต 600 เมกกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
“การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคนั้น ต้องยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น ควบคู่ไปกับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น”
รวมทั้งการจัดโรดโชว์ครั้งนี้ ก็เพื่อโชว์ศักยภาพและความพร้อมในการรองรับการลงทุน รวมทั้งนำเสนอมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี การบริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศในการลงทุนที่มุ่งสร้าง Smart & Sustainability เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตด้วยกัน
โดยโรดโชว์ที่นาโกย่าในครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งที่ผ่านมา กนอ.ได้เดินทางไปโรดโชว์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน (เซี่ยงไฮ้) ไต้หวันเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น (โตเกียวและโอซาก้า)