กกร.คง GDP 3 - 3.5% หวังท่องเที่ยวหนุน ขณะที่ส่งออกหั่นเหลือ -2 ถึง 0%
กกร.คงกรอบเศรษฐกิจไทยปี 2566 โต 3 -3.5% ชี้ภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรเดียวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ส่งออกหดตัวมากขึ้นในกรอบ -2% ถึง 0% เร่งจัดตั้งรัฐบาลภายใน ส.ค.นี้ หวังฟื้นเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมหนุนเจรจา FTA เปิดตลาดการค้าใหม่
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยระบุว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น จากปัจจัยภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น นอกจากนี้ธนาคารกลางของประเทศหลักฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงครึ่งปีหลัง ภาวะการเงินตึงตัวจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่จะยิ่งกดตันภาคธุรกิจและจำกัดการใช้จ่าย นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน และยังมีการปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขการเติบโตชอง GDP จีนปี 2566 ลงสู่ระดับ 5.4 -5.5% จากเดิม 6% โดยปัจจัยเหล่านี้อาจฉุดการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ที่ประชุม กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะตลาดจีนเริ่มฟื้นตัว มีปริมาณการเดินทางเข้าไทยเป็นอันดับ 2 อีกทั้งยังเป็นกลุ่มนักที่มีคุณภาพ และมีรายได้ต่อหัวจำนวนมาก ส่งผลให้ปีนี้คาดการณ์ว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 29-30 ล้านคน เป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวที่จะพยุงเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี กกร.ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงเติบโตประมาณ 3.0 - 3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อจีดีพี ซึ่งทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย อีกทั้งภาคการผลิตยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออกก็ยังคงหดตัวมากขึ้นในกรอบ -0.2-0.0% และภาวะเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังต่ำจากที่ประเมินไว้เดิมตามทิศทางราคาพลังงาน โดยคาดจะอยู่ในกรอบ 2.2 - 2.7%
"สาเหตุที่ กกร.ยังคงกรอบ GDP อยู่ที่ 3.0 - 3.5% แม้ว่าจะมีหลายประเด็นยังคงติดลบ แต่กลับพบว่ากลไกภาคท่องเที่ยวยังส่งสัญญาณบวกต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เห็นว่าในปริมาณนักท่องเที่ยวไม่สูง แต่พบว่ารายได้ต่อหัวสูงขึ้นอย่างมาก หากภาครัฐช่วยสนับสนุนมาตรการเรื่องวีซ่า ขั้นตอนเข้าประเทศต่างๆ จะทำให้กลไกเครื่องจักรนี้สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้"
นายผยง กล่าวด้วยว่า กกร.เล็งเห็นว่าขณะนี้ภาครัฐควรเร่งเพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการเร่งการใช้จ่ายและการ
จัดทำงบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง
เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่สะดุด จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน และการลงทุนของภาครัฐจะเป็นเครื่องยนต์ตัวที่สองในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศปีนี้
ขณะเดียวกัน กกร. ยังมีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง
โดยเฉพาะตันทุนค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาค่า
ไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3/2566 (ก.ย.- ธ.ค. 66) ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมา
คำนวณค่า Ft แล้ว พบว่า มีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 66)
และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากเดิม 4.70 บาท/หน่วย เนื่องจาก
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนมองว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ตามไทม์ไลน์คือแล้ว้สร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ จะสามารถฟื้น ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ที่ขณะนี้ยังคงรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากยังดำเนินการล่าช้าอาจส่งผลให้นักลงทุนกลุ่มนี้ เริ่มต้นลงทุนในจุดหมายปลายทางอื่น นอกจากนี้ หากมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ จะส่งผลบวกต่อการเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณ เริ่มการลงทุนในส่วนของภาครัฐ ให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ภาคส่งออกสะดุด
"กกร. เราเห็นพร้อมกันว่าการตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างช้าในเดือน ส.ค.นี้ เพราะหากเว้นว่างไว้นานจะทำให้เสียโอกาส ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกเพิ่งพาไม่ได้ ซึ่งจากการหารือกับ 20 อุตสาหกรรมก็ออกมายอมรับว่าขณะนี้ออเดอร์เริ่มหดตัวแล้ว ดังนั้นการจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ นอกเหนือจากการพึ่งพาภารท่องเที่ยว การลงทุนจากภาคเอกชน และภาครัฐจากงบประมาณเบิกจ่ายเป็นเรื่องสำคัญ"
ทั้งนี้ กกร.ยังต้องการให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เนื่องจากปัญหาการส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก การเปิดตลาดใหม่ๆ จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่อ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งผลักดันการเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่และเพิ่มโอกาสทางการแช่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย