สศก.ลดเป้าหมายจีดีพีเกษตรปี66 โต1.5-2.5%ผลกระทบ“เอลนีโญ”

สศก.ลดเป้าหมายจีดีพีเกษตรปี66  โต1.5-2.5%ผลกระทบ“เอลนีโญ”

สศก.คาด จีดีพีเกษตร ทั้งปีขยายตัวแค่ 1.5-2.5 % มูลค่า698,963 ล้านบาท เหตุจากเอลนีโญ ฝนน้อย ทำสาขาพืชหดตัว แถมรัสเซียงดส่งออกสินค้าผ่านทะเลดำ หวั่นทำต้นทุนการผลิตสูง ขณะจีดีพี ไตรมาส 2 ขยายตัว เพียง0.3 %

ประเทศไทยมีภาคการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งองค์ประกอบที่จะทำให้รายได้ภาคเกษตรดีหรือไม่มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างสภาพอากาศมาเกี่ยวข้อง โดยปีนี้และอาจยาวนานไปอีกหลายปี ปรากฎการณ์“เอลนีโญ”จะทำให้รายได้ภาคเกษตรชะลอตัว 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภาวะฝนทิ้งช่วง และแนวโน้มการเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปลายปี ที่จะทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง การระบาดของโรคและแมลง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย- ยูเครน ยังมีอยู่โดยรัสเซียประกาศไม่ให้ใช้ท่าเรือในทะเลดำในการส่งออกสินค้าธัญพืช ซึ่งจะกระทบกับการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทย รวมถึงปุ๋ยเคมี ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อยังสูงอยู่

สศก.ลดเป้าหมายจีดีพีเกษตรปี66  โต1.5-2.5%ผลกระทบ“เอลนีโญ”

 

ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหรือ จีดีพี เกษตร ทั้งปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5 % เท่านั้นเมื่อเทียบกับปี 2565 มูลค่า 688,780 ล้านบาท ลดลงจากที่คาดไว้ในช่วงต้นปีที่วางเป้าจะขยายตัว 2-3 % มูลค่า 692,177 – 698,963 ล้านบาท

  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงครึ่งท้ายของปี เป็นฤดูกาลผลิตสินค้าเกษตรจำนวนมาก โดยพาะการทำนาปี ในกรณีปลายฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง มีฝนตกมาก ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ เช่น บริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและตอบโจทย์ผู้บริโภค แปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในการผลิต การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้จีดีพีเกษตรเปลี่ยนไป ซึ่งกระทรวงเกษตรจะเฝ้าติดตามอีกครั้ง

สศก.ลดเป้าหมายจีดีพีเกษตรปี66  โต1.5-2.5%ผลกระทบ“เอลนีโญ” สศก.ลดเป้าหมายจีดีพีเกษตรปี66  โต1.5-2.5%ผลกระทบ“เอลนีโญ”

 

  • ไตรมาส2โตแต่0.3%เหตุน้ำน้อย

สำหรับ ไตรมาส 2 ปี 2566 (เม.ย. – มิ.ย.) พบว่าขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565โดย สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดของภาคเกษตรหดตัวลง เนื่องจากปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช

อีกทั้งยังมีสภาพอากาศ ที่แปรปรวนในช่วงปลายปี 2565 ถึงช่วงต้นปี 2566 ทำให้พื้นที่ทางภาคตะวันออกมีฝนตกชุกต่อเนื่องสลับกับมีลมพายุ ส่งผลให้สินค้ากลุ่มผลไม้ ดอกและผลร่วงหล่นเสียหาย ขณะที่พื้นที่ทางภาคใต้มีฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้สินค้าปาล์มน้ำมันและยางพารามีผลผลิตลดลง

นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญหลายชนิดยังอยู่ในระดับสูงทั้งปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการผลิต ลดปริมาณการผลิตหรือใช้ปัจจัยการผลิตลดลง ส่งผลให้ภาพรวมของภาคเกษตรขยายตัวได้ไม่มากนัก

เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่าสาขาพืชในไตรมาส 2 ปี 2566 หดตัว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน

มันสำปะหลัง เนื่องจากในช่วงเดือนก.ย. 2565 เนื้อที่ปลูกในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักและประสบอุทกภัย ทำให้หัวมันสำปะหลังในบางพื้นที่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งปริมาณฝนที่ลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึง เดือนพ.ค. 2566 ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาปุ๋ยเคมีมีราคาสูง เกษตรกรจึงลดปริมาณการใส่ปุ๋ย ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ และมีปริมาณผลผลิตลดลง

นาปรังดีปัจจัยลานีญาทิ้งทวน

ส่วนสินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูฝนปี 2565 มีฝนตกชุกจากสภาวะลานีญา และในเดือนก.ย. 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม

สาขาปศุสัตว์ขยายตัว 3.2% สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ประกอบกับมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สาขาประมงขยายตัว 5.7% สินค้าประมงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากเกษตรกร มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ส่งผลให้มีอัตราการรอดดี

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.0% เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก โดยกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินเพิ่มขึ้นในพื้นที่ปลูกพืชสำคัญ  

สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% โดยไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศ และการส่งออก