ชะลอตัว กระทืบเบรก หัวคะมำ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
หากเปรียบเศรษฐกิจโลกเป็นดั่งรถยนต์ ณ ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ากำลังอยู่ในโหมดชะลอตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศเจริญแล้วในเดือน ก.ค.ชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown)
โดยเฉพาะภาคบริการ โดยหดตัวมากในประเทศแถบยุโรป เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส ขณะที่ญี่ปุ่น สหรัฐ และอังกฤษ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
ภาพการชะลอตัวที่แรงขึ้นในยุโรปนี้ เป็นภาพเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจรายประเทศ เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีที่หดตัวแรงขึ้น
ขณะที่ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2 อาจดูขยายตัวดีเกินคาด (+2.4% เทียบกับไตรมาสก่อน) ผลจากภาคการลงทุนที่ขยายตัวได้ดีเป็นผลจากภาคบริการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ทำให้สายการบินสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีเป็นหลัก
ขณะที่การบริโภคที่ชะลอ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ที่แทบไม่ขยายตัว หลังจากที่รายจ่ายของชาวสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกสุทธิที่เป็นลบตามเศรษฐกิจโลกที่แย่มากขึ้น ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้นในระยะถัดไป
ด้านเศรษฐกิจจีน กำลังจมเข้าสู่เงินฝืดมากขึ้น ตัวเลขล่าสุดได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของทางการจีนยังหดตัว ขณะที่ดัชนีย่อยการจ้างงานหดตัวแรงต่อเนื่องห้าเดือนติด สอดคล้องกับอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 21.3%
ด้านดัชนีภาคบริการแม้ยังขยายตัวอยู่แต่ก็ชะลอลงมาก ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวรุนแรงขึ้น โดยยอดขายบ้านของผู้พัฒนาโครงการ 100 รายใหญ่สุดหดตัวกว่า 33% ในเดือนที่ผ่านมา
ภาพเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่จะชะลอลง สวนทางกับการทำนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางขนาดใหญ่ ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ในสหรัฐ ธนาคารกลาง (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยตามคาดท่ามกลางเงินเฟ้อที่ชะลอแรงขึ้น โดยขึ้นไปสู่ระดับ 5.38% สูงสุดในรอบ 22 ปี
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ไม่ปิดประตูที่จะขึ้นต่อ แต่จะเป็นการพิจารณาในรายการประชุมไป (Meeting by meeting)
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ Fed เปลี่ยนการคาดการณ์จากที่เคยมองว่าจะเกิดภาวะถดถอยในปีนี้ เป็นชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด (Noticeable slowdown) แต่ไม่คาดว่าจะเกิดภาวะถดถอย
ภาพดังกล่าวขัดกับภาพสินเชื่อที่เริ่มหดตัว โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อ ท่ามกลางดอกเบี้ยเช่าซื้อและบัตรเครดิตที่สูงเป็นประวัติการณ์
ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ก.ค. ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นเป็น 3.75% จาก 3.5% ขณะที่ยังคงไม่ปิดประตูสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป โดย ECB ระบุว่าพร้อมจะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับที่ตึงตัว (Restrictive level) นานเท่าที่จำเป็น
แม้ดอกเบี้ยในปัจจุบันของยุโรปใกล้เคียงหรือเข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว แต่เศรษฐกิจยูโรโซนที่กำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย ในขณะที่ความต้องการสินเชื่อของธนาคารหดตัว โดยความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนหดตัว -42% จากระดับปกติ ขณะที่ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประชาชนหดตัว -47%
ในฝั่งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน โดย Ueda Kazuo ผู้ว่าการได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield-Curve Control: YCC)
โดย BOJ ขยายเพดานอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี จาก 0.5% เป็น 1% (โดยระบุว่าเป้าหมายของ YCC ยังอยู่ที่ +/-0.5% แต่อนุญาตให้ยืดหยุ่นได้มากขึ้น และจะเข้าซื้ออย่างไม่จำกัดหากผลตอบแทนเข้าสู่ระดับ +/-1%)
แม้ว่า BoJ จะยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงมาตรการ Yield-curve control ไม่ใช่การเข้มงวดนโยบายการเงิน แต่ในทางปฏิบัติ มาตรการดังกล่าวย่อมทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงขึ้น คล้ายกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยพฤตินัย
การเปลี่ยนมาตรการดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเริ่มมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ BoJ จากระดับปัจจุบันที่ -0.1% เป็นศูนย์อาจเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี โดยในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในโตเกียวเพิ่มขึ้น 4% ต่อปีในเดือน ก.ค.(แต่เงินเฟ้อทั่วไปทั้งญี่ปุ่นเริ่มชะลอลง จาก 4.4% ในปีก่อนมาอยู่ 3.2% ในปัจจุบัน)
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานก็สำคัญเช่นกัน โดยการเจรจาค่าจ้าง shunto (การเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง) ในเดือน มี.ค. ได้ตกลงว่าจะขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสามทศวรรษที่ 3.8%
โดยบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Fast Retailing Co, Nintendo and Toyota ได้ปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้น ทำให้ความเสี่ยง Wage-price spiral มีมากขึ้น
ความเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุดของการทำนโยบายการเงินตึงตัวของญี่ปุ่น คือภาระการจ่ายดอกเบี้ยของหนี้ภาครัฐ โดยหนี้ภาครัฐในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงถึง 263% ของ GDP ในปีที่แล้ว (9.2 ล้านล้านดอลลาร์) และกว่า 43.3% ถือครองโดย BOJ
โดยดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นถึงกว่า 7.4% ของงบประมาณประจำปี มากกว่างบประมาณด้านกลาโหม การศึกษา หรือโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างยั่งยืนจะสร้างแรงกดดันต่อภาคการคลังญี่ปุ่น
ในส่วนของผู้เขียน มองว่ามาตรการดังกล่าว เป็นการเริ่มดึงนโยบายการเงินญี่ปุ่นให้สู่ระดับปกติ (Normalization) ซึ่งแม้ว่าจะถูกต้องเนื่องจากจะลดการบิดเบือนด้านการเงิน แต่มีข้อที่ควรระวังใน 2 จุด ได้แก่
(1) ในช่วงสั้น การขยาย Band ดังกล่าวอาจทำให้ตลาดตีความได้ว่าเป็นการทำนโยบายการเงินตึงตัว ทำให้อาจมีการถอนธุรกรรม Yen Carry Trade (กู้เงินเยน มาลงทุนในต่างประเทศ) อย่างรวดเร็ว
รวมถึงการที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนในญี่ปุ่นที่ลงทุนในต่างประเทศถอนการลงทุนออก ซึ่งจะทำให้ค่าเงินผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว (อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น เงินเยนไม่ได้มีทิศทางแข็งค่า แต่กลับอ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและภาคเอกชนญี่ปุ่น) และ
(2) ทำให้ภาระดอกเบี้ยของภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากหนี้ภาครัฐและเอกชนที่ค่อนข้างสูง โดยหากอัตราดอกเบี้ยที่ภาครัฐและเอกชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 1% ภาระที่ภาครัฐและเอกชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ และ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้
กล่าวโดยสรุป ในมุมมองผู้เขียน แม้ว่าสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะเห็นเด่นชัดขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงน้อยลงท่ามกลางความเสี่ยงเงินฝืดเพิ่มขึ้น แต่ธนาคารกลางต่าง ๆ ก็ยังคงเร่งทำนโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งอาจทำให้ Momentum เศรษฐกิจที่ชะลออยู่แล้วเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
เศรษฐกิจโลกคันนี้กำลังชะลอลง แต่คนขับกำลังกระทืบเบรคแรงขึ้น ผู้โดยสารทุกท่าน โปรดระวังหัวคะมำ
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่