‘รถไฟฟ้า' 20 บาท นโยบายชูโรง 'รัฐบาลเศรษฐา’
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่รัฐบาลใหม่ภายใต้บังเหียน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศกร้าวอย่างชัดเจนในนโยบายประชาชนต้องอยู่ดีกินดี
ซึ่งหนึ่งในนโยบายชูโรงเมื่อครั้งตอนหาเสียง เรียกว่าสร้างภาพจำไม่น้อย คือ นโยบายลดค่าครองชีพประชาชน ในภาคขนส่งสาธารณะ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”
โดยก่อนหน้านี้ “เศรษฐา ทวีสิน” เคยออกมาโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุถึงแนวคิดที่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ให้เหลือ 20 บาทตลอดสายด้วยว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเร่งเจรจากับทุกภาคส่วนเพื่อลดค่าโดยสารเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้
เนื่องจากปัจจุบัน"ค่าบริการรถไฟฟ้า"ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อเที่ยวคิดเป็น 11% ของค่าแรง หากคำนวณราคาไป-กลับ อยู่ที่ 22% ถือว่าแพงมากเทียบกับอัตราส่วน 1.5% ของค่าแรงที่เกาหลีใต้ , 2.9% ที่ญี่ปุ่น หรือ 3.5% ที่สิงคโปร์ โดยประเทศเหล่านั้นการขึ้นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน นอกจากนั้นอัตราค่าโดยสารที่แพงกว่าคนอื่นนี้ถูกซ้ำเติมโดยสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตโควิดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาอีก
ถึงเวลานี้เมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว คงต้องจับตามองนโยบายชูโรงนี้ว่าจะถูกผลักดันไปในทิศทางใด จะทำได้จริงหรือเพียง “ขายฝัน” ซึ่งทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ออกมาวิเคราะห์ถึงนโยบายกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายด้วยว่า กรมฯ เชื่อว่าทุกอย่างสามารถทำได้จริง หากแต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีเงื่อนไขกำหนดการจัดทำราคาค่าโดยสารดังกล่าวเฉพาะกลุ่มผู้เดินทาง
อีกทั้งการประกาศใช้นโยบาย"ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ซึ่งปรับจากเดิมที่เริ่มต้นในอัตรา 16 บาทนั้น หากถูกใช้ในทุกกลุ่มผู้โดยสาร รัฐบาลจะต้องทำเงินงบประมาณไปสนับสนุนส่วนต่างให้กับภาคเอกชนคู่สัญญา ตามสัมปทานกำหนดไว้ในจำนวนมาก เพื่อไม่ให้รายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามสัญญาสัมปทานได้รับผลกระทบ และผิดไปจากเงื่อนไขสัญญา
ขณะที่ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็เคยออกมาวิเคราะห์ถึงปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในไทยแพงกว่าที่สิงคโปร์ถึง 20% อีกทั้งยังสวนทางกับรายได้ประชากร เป็นเพราะโครงการต่างๆ มีเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่าง บางโครงการรัฐสนับสนุนงานโยธา และบางโครงการรัฐไม่ได้สนับสนุน ทำให้สัมปทานมีความแตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ ปัญหาที่ทำให้ค่าโดยสารแพงเกินเอื้อม คือการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน โดยรัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ได้ค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าที่เป็นตารางค่าโดยสารร่วมทุกเส้นทาง โดยไม่ต้องคิดค่าโดยสารแยกในแต่ละเส้นทาง เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายรถไฟฟ้านั้น จึงจะเห็นได้ว่าขณะนี้ยังคงต้องรอความชัดเจนของรายละเอียดนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่าจะสามารถผลักดันให้เห็นเป็นผลงานชูโรงในรัฐบาลนี้ได้หรือไม่ เพราะตลอดการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนมากพอที่จะนำมาเตรียมปฏิบัติ
และท้ายที่สุดโจทย์ใหญ่น่าคิดตาม หาก "รัฐบาลเศรษฐา" ประกาศปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ใช้ได้ในทุกสายทางของรถไฟฟ้า แน่นอนว่าจะได้คะแนนนิยมจากประชาชน แต่ทางกลับกันรัฐบาลชุดนี้คงต้องควักงบประมาณจำนวนไม่น้อยในการอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสารที่หายไป และจะเลี่ยงทำผิดเงื่อนไขสัญญาสัมปทานอย่างไร