อนาคต จี20 อนาคตเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

อนาคต จี20 อนาคตเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

เสาร์อาทิตย์ที่ 9-10 กันยายน การประชุมระดับผู้นำประเทศของกลุ่มจี20 (G20) ที่อินเดีย คือยี่สิบประเทศใหญ่สุดในโลกได้จบลงแบบเฉยๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้น

ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศในกลุ่มที่จะร่วมกันแก้ปัญหาเร่งด่วนที่เศรษฐกิจโลกมี เช่น ปัญหาหนี้สินของประเทศกําลังพัฒนา รวมถึงปัญหาที่เป็นความเป็นความตายร่วมกัน เช่น ภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง

ชี้ถึงช่องว่างที่มีมากระหว่างปัญหาที่ต้องแก้ไข กับความเป็นไปได้ที่ประเทศหลักจะร่วมมือกันแก้ปัญหา คําถามคืออะไรเกิดขึ้นกับ G20 และถ้าเป็นแบบนี้ อนาคตเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

จี20 เกิดขึ้นในปี 1999 หลังวิกฤติเศรษฐกิจการเงินเอเซียสองปี ซึ่งวิกฤตเอเซียแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มาจากความเป็นเสรีของเงินทุนเคลื่อนย้ายภายใต้บริบทของโลกาภิวัตน์

กลุ่มจี20 ประกอบด้วยประเทศขนาดใหญ่ สิบเก้าประเทศบวกสหภาพยุโรป มีขนาดจีดีพีรวมกันเท่ากับร้อยละ 80 ของจีดีพีโลก ครอบคลุมสองในสามของประชากรโลก

เป้าหมายของ จี20 คือเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก เริ่มจากเป็นเวทีระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลาง แต่หลังปี 2008 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐและยุโรป ที่ประชุมถูกยกระดับเป็นระดับผู้นำประเทศ และการประชุมที่กรุงลอนดอน ปี 2009

อนาคต จี20 อนาคตเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

แสดงให้เห็นถึงพลังของกลุ่มจี20 ในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโลกอย่างชัดเจน ที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่กําลังเกิดขึ้นขณะนั้นกลับมาได้โดยเร็ว ถือเป็นจุดสูงสุดของจี20

หลังจากนั้น เมื่อไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ วาระความร่วมมือของประเทศในกลุ่มจี20 ก็เริ่มขยายและค่อนข้างสะเปะสะปะ มีการนําเรื่องนอกบริบทการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินโลกมาให้ผู้นำประเทศหารือ

ทําให้วาระการประชุมมีมาก และจบโดยผู้นำประเทศแสดงเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาหลายเรื่องร่วมกัน แต่มักทําไม่ได้หรือไม่ได้ทํา ทําให้ภาพของจี20 ในฐานะเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทรงพลังเริ่มถดถอย

ตัวอย่างเช่น การลดการใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่ไม่เป็นตามเป้า การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ไม่มีความก้าวหน้า

อนาคต จี20 อนาคตเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

และ การให้ประเทศในกลุ่มจี20 แสดงเจตจำนงที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนตามหลักการ Blue Ocean เก้าข้อในเชิงบังคับแต่ก็ถูกลดทอนมาเป็นตามความสมัครใจของแต่ละประเทศ

สิ่งเหล่านี้ทําให้ความน่าเชื่อถือและความขลังของจี20ในฐานะเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศถดถอยลง

ในบทความ We need the G20 -But what is it for? เขียนโดย Martin Wolf ของ นสพ. ไฟแนนเชียลไทม์ เผยแพร่ 12 กันยายนให้ความเห็นว่า ความไม่ก้าวหน้าของจี20ในฐานะเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญของโลก เป็นผลจากสามปัจจัย

หนึ่ง ความแตกแยก เห็นได้จากการไม่เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำประเทศของจี20ที่อินเดียของสองผู้นำประเทศสําคัญคือ จีนและรัสเซีย ชี้ชัดว่าโลกกําลังอยู่ในความขัดแย้ง มีการแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย และเป็นที่ทราบกันว่าผู้นำจีนจะไม่ร่วมประชุมในทุกเวทีระหว่างประเทศที่จีนไม่มีบทบาทนํา แสดงให้เห็นถึงความลึกของความแตกแยกระหว่างประเทศที่มีอยู่

ในความเห็นของผม ความแตกแยกมีหลายระดับและหลายมิติ

หนึ่ง ความแตกแยกระหว่างประเทศสมาชิกจี20 เช่น อินเดียกับจีน ที่ไม่ยอมรับกัน

สอง ความแตกแยกเพื่อครองอำนาจและอิทธิพลในเศรษฐกิจการเมืองโลกระหว่างสหรัฐกับจีน และ

สาม ความต้องการของประเทศตะวันตกในกลุ่มจี20 ที่ต้องการมีอิทธิพลและบทบาทนําในเวทีจี20 เหนือสมาชิกอื่น เป็นสิ่งที่สมาชิกอื่นไม่ต้องการ รวมถึงไม่ต้องการให้จีนเข้ามามีบทบาทนำในเวทีนี้เช่นกัน

ตัวอย่างล่าสุดคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เวทีจี20 ไม่สามารถหาจุดร่วมในประเด็นนี้ได้

อนาคต จี20 อนาคตเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

สอง วาระหรือหัวข้อหารือของกลุ่มจี20 แต่ละครั้งมีมากเกิน รวมเรื่องทุกเรื่องในวาระการประชุมจนเกินความสามารถของเวทีอย่างจี20 ที่จะติดตาม วิเคราะห์ และมีข้อสรุปทางนโยบายอย่างที่ควรเป็น

ผลคือเรื่องที่ได้ประชุมไปไม่มีการติดตาม และมักค่อยๆหายไปโดยไม่มีการติดตามหรือทําต่อ ทําให้ภาพลักษณ์จี20 ในฐานะเวทีผู้นำประเทศของโลกเสียหาย

ในความเห็นผม เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างและวิธีการทํางานของจี20 ที่ทําให้จี20 กลายเป็นเวทีหารือของผู้นำประเทศในเรื่องที่ประเทศสมาชิกหรือประธานที่ประชุมเสนอ ทำให้วาระหารือมีมากและไม่เกิดผลทางปฏิบัติ

เหตุสำคัญเป็นเพราะจี20 ไม่มีเจ้าหน้าที่และทีมงานเลขานุการถาวร ที่จะวิเคราะห์ แยกแยะ เรื่องที่เสนอมาว่าผู้นําประเทศควรพิจารณาหรือไม่ ควรมีข้อสรุปอย่างไร และจะติดตามการปฏิบัติตามมติของผู้นำประเทศอย่างไร

นอกจากนี้ ประธานการประชุมจะเปลี่ยนทุกปี เพราะประเทศเวียนกันทำหน้าที่ ทําให้ประเด็นการประชุมขาดความต่อเนื่อง มักเปลี่ยนไปตามวาระที่ประเทศที่เป็นประธานการประชุมต้องการผลักดัน

ผลคือ จี20 กลายเป็นเวทีพูดคุยของผู้นำประเทศ ไม่ใช่เวทีตัดสินใจร่วมกันของผู้นำประเทศที่จะร่วมกันแก้ปัญหา ทําให้ปัญหาที่เป็นภัยหรือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกไม่มีการหารือและแก้ไข

สาม การกลับกรอก (hypocrisy) คือพูดอย่างทําอย่าง หรือไม่ทําอย่างที่พูด มีแต่คำพูดและสัญญาแต่ไม่ทํา และเชื่อไม่ได้ว่าจะทําในสิ่งที่พูด มีแต่คําพูดสวยงาม เช่น เอกสารแถลงผลการหารือล่าสุด (Communique ) จากการประชุมที่เพิ่งจบไปที่อินเดีย ประกาศว่า ประเทศจี20 จะไม่ทนกับการทุจริตคอร์รัปชัน (Zero tolerance)

ฟังแล้วสวยงามและถือว่าสุดยอดที่ยี่สิบผู้นำประเทศใหญ่ที่สุดในโลกออกมาให้คำมั่นสัญญาเรื่องนี้ แต่บทความให้ข้อสังเกตว่าจะเชื่อคำพูดเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อหลายประเทศในกลุ่มจี20 มีปัญหาคอร์รัปชันมากหรือรุนแรงในประเทศตน สะท้อนจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ

ความเห็นทั้งสามข้อเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ชี้ว่า ในภาวะที่เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก และความเป็นความตายของมนุษยชาติต้องการความร่วมมือของทุกประเทศที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกําลังไปอีกทาง

และถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราคงหวังพึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีไม่ได้ แต่ละประเทศคงต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก และถ้าผิดพลาดไปก็จะไม่มีใครช่วย นี่คือสิ่งที่ต้องตระหนัก

อนาคต จี20 อนาคตเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]