เปิดแผนลงทุนรัฐวิสาหกิจ1.8ล้านล้าน รัฐบาลเร่ง “รฟท.-ขสมก.” เพิ่มรายได้
ครม.ไฟเขียวกรอบลงทุนรสก.ปี 67 1.81 ล้านล้านบาท ดันเบิกจ่ายวงเงินลงทุน 5 แสนล้านบาท ปีหน้า หวังดันเศรษฐกิจโตเพิ่มจากการลงทุน อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ 1.38 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 258,985 ล้านบาท
ประกอบด้วย กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติ และโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1.18 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท และ กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจาก ครม. และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ครม.เห็นชอบให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตาม พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณ
หรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้วและปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติ ครม. เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ
นอกจากนี้ ครม.รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 76,756 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2568-2570 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 83,443 ล้านบาท
สำหรับการเบิกจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2567 ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 46 แห่งในปีงบประมาณ 2567 วงเงินรวม 499,950 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
1.งบเบิกจ่ายลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง 208,985 ล้านบาท 2.งบเบิกจ่ายลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปี 50,000 ล้านบาท
รวมทั้งมีงบเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนและบริษัทในเครือ 5 แห่ง เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น รวมอีก 240,965 ล้านบาท
ดังนั้น รวมงบเบิกจ่ายลงทุนปกติทั้งหมดจะอยู่ที่ 449,950 ล้านบาท และงบเบิกจ่ายระหว่างปีอีก 5 แสนล้านบาท
ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน
นอกจากนี้ ครม.อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ที่ประกอบด้วย
1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท
2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
3.แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนฯ หน่วยงานภายใต้แผนฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย โดยสาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.แผนการก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ เป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาที่สำคัญ รวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ
2.แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567
3.แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 53,731.63 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในแผนประจำปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนประจำปีงบประมาณ 2567
ทั้งนี้ ครม.ขอให้ รฟท. และ ขสมก. เร่งรัดดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้น และขอให้ รฟท. และ ขสมก. รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อทราบต่อไป
รวมทั้งจากประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการตามแผนฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ไม่เกิน70%