ตัวคูณทวีของนโยบายแจกเงินดิจิทัล | สถาบันอนาคตไทยศึกษา
รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อคนเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงที่สำคัญเนื่องจากเป็นนโยบายที่ใช้เงินงบประมาณมูลค่าสูงประมาณ 560,000 ล้านบาท หรือราว 3.2% ของ GDP
เกณฑ์ขั้นต้นของนโยบายคือ ผู้รับเงินเป็นพลเมืองไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ถูกต้อง ผู้รับเงินต้องใช้จ่ายภายในรัศมีประมาณ 4 กิโลเมตรจากเขตบ้านเกิดของตน จำนวนเงินนี้ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้และต้องใช้ภายใน 6 เดือน รวมถึงไม่สามารถใช้ซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ หรือชำระหนี้ได้
ในช่วงเวลาหาเสียง ผู้คิดนโยบายนี้คาดการณ์ว่านโยบายจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 1.512 ล้านล้านบาท หรือมีผลกระทบตัวคูณทวีทางการคลัง (Multiplier Effect) ประมาณ 2.70 เท่า
นอกจากนี้ ในอีกทางหนึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ประมาณ 1 แสนล้านบาทจากการบริโภคของประชาชนที่เกิดขึ้น ซึ่งหากคิดในอีกมุมหนึ่งหมายถึงคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจประมาณ 1.428 ล้านล้านบาท จึงจะสามารถเก็บภาษี VAT ที่อัตรา 7% ได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท แสดงว่ากรณีนี้ตัวคูณทวีทางการคลังจะเท่ากับประมาณ 2.55
ดังนั้น จึงพอสรุปจากข้อมูลเบื้องต้นได้ว่าผู้คิดนโยบายมีสมมติฐานว่าตัวคูณทวีทางการคลังจะมีค่าประมาณ 2.55-2.7 ซึ่งหมายถึงว่า เงินที่รัฐบาลให้ทุก 1 บาท จะก่อให้เกิดการใช้จ่ายเป็นทอดๆ และเกิดรายได้รวมประมาณ 2.55-2.7 บาท
ตัวคูณทวีทางการคลัง (Multiplier Effect) เป็นหัวใจสำคัญของการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตัวคูณทวีทางการคลังจะวัดอัตราส่วนของการเปลี่ยนแปลงในรายได้ประชาชาติหรือ GDP ต่อการเปลี่ยนแปลงในการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยวัดว่าเศรษฐกิจเติบโตได้มากเพียงใดจากนโยบายทางการคลังของรัฐบาล
เมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะอัดฉีดเงินหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ประชาชนจะเป็นการเพิ่มความต้องการสินค้าและบริการให้เกิดขึ้น สิ่งนี้นำไปสู่การเพิ่มรายได้ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจเหล่านี้จะจ่ายเงินให้กับคนงานและซัพพลายเออร์
คนงานและซัพพลายเออร์จะใช้รายได้ใหม่ต่อไป การใช้จ่ายแต่ละรอบกลายเป็นรายได้ให้คนอื่นๆ จึงทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ของการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวคูณทวีทางการคลังอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในทางทฤษฎี เนื่องจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อประเทศอยู่ในเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีการค้าระหว่างประเทศสูงทำให้การบริโภคส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าและบริการหรือวัตถุดิบนำเข้า
ทำให้เมื่ออัดฉีดเงินลงไปแล้วจึงเกิดการไหลของเงินออกไปจากการนำเข้าหรือซื้อสินค้าที่มีวัตถุดิบนำเข้าสูง เงินจึงหมุนออกไปต่างประเทศ
นอกจากนี้ ตัวคูณทวีทางการคลังอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ยังอาจเกิดการ “crowding out effect” ที่ทำให้การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายของภาครัฐส่งผลให้การบริโภคหรือการลงทุนของภาคเอกชนลดลง อัตราดอกเบี้ยที่อาจเพิ่มขึ้น หรือจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ
งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้ทบทวนงานวิจัยต่างๆ ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว พบว่าตัวคูณทวีทางการคลังมีค่าประมาณ 0.3-1.2
ในกรณีประเทศไทย KKP Research คาดการณ์ตัวคูณทวีทางการคลังไว้เพียง 0.4 (ทุก 1 บาทที่จ่ายลงไป เกิดรายได้ 0.4 บาท)
โดยประเมินว่าส่วนหนึ่งประชาชนไม่ได้ใช้เงินทั้งหมด บางคนเลือกไม่ใช้หรือใช้ไม่ทันระยะเวลาที่กำหนด ประชาชนบางส่วนอาจไม่ใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าใหม่แต่ใช้เพื่อแทนการใช้จ่ายที่จำเป็นเดิม และสินค้าบางส่วนที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นสินค้านำเข้า นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP เพียง 1.0-1.2% และเพิ่มการบริโภคของประเทศประมาณ 2.5-3.0%
สำนักงานงบประมาณรัฐสภาไทย ประมาณการตัวคูณทางการคลังไว้ที่ 0.947 (ทุก 1 บาทที่จ่ายลงไป เกิดรายได้ 0.947 บาท) สำหรับกรณีรายจ่ายเงินโอนให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งการโอนเงินให้ประชาชนทั่วไปถือว่ามีผลตัวคูณทวีทางการคลังน้อยที่สุด
ในทางตรงกันข้าม กรณีรายจ่ายในการลงทุนจะมีตัวคูณทวีทางการคลังประมาณ 1.242 และกรณีการโอนเงินให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีตัวคูณทวีทางการคลัง 1.356 ซึ่งสูงกว่ากรณีเงินโอนให้ประชาชนทั่วไป
ธนาคารแห่งประเทศไทย (2015) เคยประมาณการตัวคูณทวีทางการคลังไว้พบว่ากรณีการโอนเงิน (Transfer Payment) มีตัวคูณทวีทางการคลังเพียง 0.4 เนื่องจากการโอนเงินไม่ได้กระตุ้นการผลิตหรือสร้างโดยตรงเกิดการจ้างงานทันที
ส่วนกรณีรายจ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐบาล (Government consumption expenditure) ให้ผลคูณทวีทางการคลังเท่ากับ 1.0 โดยมีค่าสูงกว่าการโอนเงิน เนื่องจากการบริโภคของรัฐบาลโดยตรงมีส่วนที่เป็นการนำเข้าน้อยกว่า
ส่วนกรณีรายจ่ายเพื่อการลงทุน (Investment expenditure) มีตัวคูณทวีทางการคลังเท่ากับ 0.7-1.0 เนื่องจากมีสัดส่วนการนำเข้าสูงกว่าการบริโภคของรัฐบาล
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านตัวคูณทวีทางการคลังของนโยบายจึงอาจไม่ได้สูงอย่างที่คาดหวังไว้