“พัทยา”ลุยโปรเจ็กต์ปรับโฉมเมือง ดึงท่องเที่ยว“ไมซ์-ครอบครัว-กีฬา”
เมืองพัทยา เดินหน้าโปรเจ็กต์ปรับโฉมเมืองใหม่ ฟื้นท่องเที่ยวรับกลุ่มไมซ์ ครอบครัว กีฬา หวังไฮสปีดเทรนเร่งก่อสร้างเชื่อมกรุงเทพถึงพื้นที่ภาคตะวันออก ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อยอดพัฒนาโอลด์ทาวน์นาเกลือและแผนรถไฟฟ้ารางเบา
“เมืองพัทยา” ถูกกำหนดให้เป็น "ไมซ์ซิตี้” หรือ เมืองศูนย์กลางการประชุม สัมมนา ท่องเที่ยว และจัดแสดงสินค้าระดับโลกเพื่อสร้างเวทีการทำธุรกิจและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับเมืองพัทยาได้มีการกำหนดให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออก ด้วยการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และธุรกิจบริการ มีที่พักโรงแรมและศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่เหมาะแก่การจัดประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาพัทยามีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากกรุงเทพฯ และภูเก็ต
ปรเมศร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า รายงานนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดชลบุรีในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค.2566 อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านคน โดย 12 ล้านคน เดินทางมาที่พัทยาด้วย ทั้งนี้คาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพัทยาตลอดทั้งปีนี้เรียกว่าฟื้นตัวแล้ว น่าจะกลับมามากกว่าหรือเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 18 ล้านคน คิดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 10 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือเพียงแค่ 30-40% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มหลักยังเดินทางมาไทยไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากอินเดียและรัสเซีย จึงทำให้แหล่งท่องเที่ยวที่ต้อนรับทัวร์ขนาดใหญ่ยังเติบโตได้ไม่เต็มที่
ทั้งนี้ เชื่อว่าการเปิดวีซ่าฟรีในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้จะมีส่วนสำคัญให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยเมืองพัทยาไม่ได้กังวลเรื่องปริมาณนักท่องเที่ยวมากนักแต่เน้นที่คุณภาพ ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
“การฟื้นฟูของเมืองพัทยาในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อาทิ โรงแรม สวนน้ำ สวนสนุก ที่ตอบรับตลาดนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น จนพัทยาได้รับโหวตเป็นเดสติเนชั่นท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวอันดับหนึ่งในไทยบนแอปพลิเคชั่นท่องเที่ยวหลายแห่ง”
นอกจากนี้ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพัทยายังมีการเติบโตในรูปแบบที่มีความหลากหลาย ทั้งการเป็นเมืองที่ส่งเสริมด้านกีฬา (Sport City) เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมกีฬาระดับโลกทุกปี เช่น เวิล์ดเจ็ตสกี พัทยามาราธอน ต้อนรับนักวิ่งกว่า 14,000 คนการเป็นเมืองท่องเที่ยวกลางคืน (Night Life)
รวมทั้งการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับอีอีซี ที่กำหนดให้บางละมุงในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) โดยพัทยาเองก็พร้อมรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness City) ด้วยสถานบริการด้านความสวยความงาม และบริการผ่อนคลาย สปา
รวมถึงการพัฒนาเป็นไมซ์ซิตี้ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก หลังโควิดมีการกลับมาจัดประชุมสัมมนาและจัดแสดงสินค้า โดยเฉพาะการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) เป็นที่นิยมของชาวจีนมาก ล่าสุดให้การต้อนรับคณะเดินทางมา2-3 พันคน
สำหรับเมืองพัทยาเดินหน้าโครงการปรับโฉมเมืองภาพลักษณ์เมืองใหม่ ด้วยการบูรณาการงบประมาณร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ โครงการนำร่องเสาไฟฟ้าลงดินโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะทาง 21 กม. รวม 9 เส้นทาง เป็นงบลงทุนกว่า3,000 ล้านบาท ปัจจุบันแล้วเสร็จ 5 เส้นทาง โครงการเสริมทรายชายหาดร่วมกับกรมเจ้าท่า หาดพัทยาและหาดจอมเทียนระยะทาง 7 กม. อยู่ระหว่างการดำเนินการ
รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และวางแผนขนส่งมวลชน โดยมีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา(Tram Way) ซึ่งจะเป็น Feeder ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนท้องถิ่นเมืองพัทยา เช่น รถสองแถว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่และรถประจำทางด้วย และจะเชื่อมกับ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
“เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงมีความชัดเจนและเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ เมืองพัทยาก็พร้อมที่จะหาเอกชนผู้ร่วมลงทุน(PPP) ใน 2 เส้นทางที่ศึกษาแล้วเสร็จ ก็เชื่อว่านักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะมีผู้ใช้บริการที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพียงพอ”
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า สกพอ.ได้ลงพื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2566 เพื่อจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ทั้งนี้ จากการคัดเลือกรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองที่เหมาะสม พบว่ารูปแบบระบบราง อาทิ รถไฟฟ้าแทรม รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) และรถไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับ (APM) มีความเหมาะสมที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งหลังจากนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ จะนำรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองนี้มาออกแบบรูปแบบแนวคิดเบื้องต้นของโครงการนำร่องและจะนำเสนอผลสรุปในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ลานโพธิ์-นาเกลือ เมืองพัทยาได้ดำเนินการปรับปรุงทัศนียภาพและมีการก่อสร้างอาคารจอดรถรองรับ 239 คัน การปรับปรุงสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสนามเด็กเล่นได้ตามแผน ขณะที่แผนสร้างตลาดทะเลระดับโลกที่ออกแบบ โดยอีอีซี ไม่ได้รับการตอบรับของคนในพื้นที่ รวมถึงการก่อสร้างทางเชื่อมจากตลาดนาเกลือไปสะพานยาวจึงเป็นสองโครงการที่ยังผลักดันไม่สำเร็จ