นายกฯ ฝากการบ้านเอกชน เสนอแผนรับมือแล้ง ย้ำไทยเป็นฐานผลิตรถ ICE แห่งสุดท้าย

นายกฯ ฝากการบ้านเอกชน เสนอแผนรับมือแล้ง ย้ำไทยเป็นฐานผลิตรถ ICE แห่งสุดท้าย

นายกฯ พบ ส.อ.ท. รับสมุดปกขาว พร้อมฝากการบ้านเอกชนทำ Action Plan เสนอแผนรับมือน้ำแล้งภาคตะวันออก ย้ำไทยจะเป็นฐานผลิตรถยนต์สันดาปสุดท้ายในโลก ยืนยันเร่งเจรจา FTA ดึงลงทุนต่างประเทศ

วันนี้ (6 ต.ค.) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินงานในทุกมิติเพื่อทำงานแบบบูรณาการ และพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าบรรยากาศในการเข้าพบนายกฯ เป็นไปอย่างเข้าอกเข้าใจ และได้รับการตอบรับอย่างตรงประเด็น โดยเอกชนได้รับโจทย์มาอย่างชัดเจนในการจัดทำ Action Plan เพื่อฉายภาพแนวทางในการดำเนินงานเรื่องเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเป็นรายเซคเตอร์อุตสาหกรรม รวมถึงแผนผลักดันอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ด้วย ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อเสนอนายกฯอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ย้ำถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ ที่มีปัญหาซ้ำซ้อนทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งแผนการรับมือกับเอลนีโญ่ที่จะรุนแรงขึ้นในเดือนเม.ย.2567 

“ปัจจุบันผู้ประกอบการรวมทั้งนักลงทุนต่างชาติได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากในพื้นที่มาบตาพุด อาทิ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี” 

นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้ย้ำถึงแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) แห่งสุดท้ายของโลก โดยเฉพาะตลาดรถพวงมาลัยขวา เพื่อให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในซัพพลายเชนยานยนต์กว่า 6 แสนคน ปรับตัวได้ทัน

“ทั้งนี้ แนวทางในการส่งเสริมรถ ICE จะมีการพูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหลักในไทยให้มีมาตรฐานในการผลิตรถประหยัดน้ำมันยูโร 5-6 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งแนวทางการผลิตรถพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ไฮบริด และไฮโดรเจน”

ขณะเดียวกันนายกฯ ยืนยันด้วยว่าจะเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้เร็วที่สุด เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดึงดูดลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ทั้งจากจีนและยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์

นายกฯ ฝากการบ้านเอกชน เสนอแผนรับมือแล้ง ย้ำไทยเป็นฐานผลิตรถ ICE แห่งสุดท้าย

ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ส.อ.ท.ยังคงเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมไทย และพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย สู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นเรื่องของคลีน (Clean) กรีน(Green) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

“ส.อ.ท.ได้นำเสนอข้อเสนอแนะแก่นายกรัฐมนตรี ที่ประกอบด้วยข้อเสนอแนะ 8 ข้อหลัก จาก 70 ข้อ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การขับเคลื่อน GDP ให้เติบโตมากขึ้น และความยั่งยืน ทั้งเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม 

โดยในที่ประชุม ส.อ.ท. ได้เสนอแนะ 8 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ได้แก่

1. การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสนอกำหนดให้การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Reform) เป็นวาระแห่งชาติ โดยใช้กลไกผ่านวิธีการแก้ไขกฎหมายกลาง (Omnibus Laws) และ Regulatory Guillotine

รวมทั้งบูรณาการในการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เกิดความชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมศูนย์บริการและขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ แบบ One Stop Service ณ จุดเดียว โดยเฉพาะการขออนุมัติอนุญาตประกอบกิจการ

2. การพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ค่าจ้างไตรภาคี พิจารณาสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยให้ยึดข้อเสนอ/ข้อมูลจากคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลักในการพิจารณา

การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้ง Upskill/ Reskill/ Multi Skill/ Future Skill ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ รวมทั้งส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) และเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานครบทุกสาขาอาชีพ

3.การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) เร่งพิจารณาทบทวนแผนพลังงานชาติ หรือ National Energy Plan (NEP) ฉบับใหม่ ลดภาระต้นทุนพลังงาน และค่าไฟฟ้า โดยบริหารจัดการReserve Capacity และทบทวนโครงสร้างพลังงานที่เกี่ยวข้องกับค่า Ft รวมถึงบริหารและจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมรวมทั้งเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ. พลังงาน)

4.  การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เร่งสร้างกลไกและแผนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มีความต่อเนื่องและครอบคลุม Ecosystem ของอุตสาหกรรม เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น FTA ไทย - EU, ไทย - EFTA, ไทย - GCC, อาเซียน - แคนาดา, ไทย – US เป็นต้น

นอกจากนี้ เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้า Made in Thailand (MiT) ให้ได้รับแต้มต่อเป็น 10% และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชนให้สามารถนำยอดซื้อมาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า รวมทั้งปกป้องสินค้าไทยโดยการควบคุมสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ

5. การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล สนับสนุนการลงทุนพัฒนาไปสู่ Digital Transformation 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ SMEs ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขับเคลื่อนการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) รายอุตสาหกรรม และรายภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนวิจัยพัฒนา/วิเคราะห์ทดสอบ

รวมทั้ง ออกมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนให้เกิดการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม เพื่อขยายตลาดเข้าสู่ตลาดภาคเอกชน เช่นนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

6. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า และการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero บูรณาการการบริหารจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน เช่น เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ ลดการสูญเสียน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มประสิทธิภาพท่อส่งน้ำ (Water Grid) การจัดตั้งกองทุนน้ำ พัฒนาระบบชลประทาน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เตรียมความพร้อมในการรับมือมาตรการ Climate Change เช่น จัดทำ Climate Fund, มาตรการส่งเสริมการลด GHG, จัดทำมาตรการ Emission Trading System (ETS), ขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน 4D 1 E เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลักดันการดำเนินการอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มมูลค่าสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) โดยส่งเสริมการใช้ Circular Materials , การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR)

7. การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ออกมาตรการการเงิน เสริมสภาพคล่อง SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่า (Soft Loan), มาตรการค้าประกันสินเชื่อเพื่อ SME, มาตรการพักดอกลดต้น เป็นต้น การปรับอัตราภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ลด 5 % จากอัตราเดิม

นอกจากนี้ จัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับ SMEs เพื่อให้ SME นำเทคโนโลยี Automation & Robotic มาลดต้นทุนการผลิต และทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน

8. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Logistics และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม แก้ไขปัญหาความแออัด ณ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Shift Mode (เรือ-ราง)

นอกจากนี้ ยกระดับด่านชายแดนเป็นจุดผ่านแดนถาวร ได้แก่ จุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุมยวน จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และระหว่างไทย - กัมพูชา ได้แก่ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

รวมทั้งปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศ ให้พื้นที่เกษตรกรรมสามารถรองรับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)