'ย้อนรอย' ไฟเขียวขึ้นราคาน้ำตาล 2 บาท ใครสมประโยชน์???
ไทม์ไลน์ พาณิชย์ ใส่เกียร์ถอยหลัง ยอมไฟเขียวขึ้นราคาน้ำตาล 2 บาทกก. อ้างเพื่อความสมดุล 2 ฝ่าย “เกษตรกร-ผู้บริโภค” จับตา ใครได้ประโยชน์ขึ้นราคาน้ำตาล
ในที่สุดคณะกรรมกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานประธานกกร.เป็นประธานก็ยอม“ถอย”ตามมติครม.เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้ขึ้นราคาน้ำตาล 2 บาทต่อกก.โดยกกร.มีมติให้ยกเลิกประกาศกกร.ฉบับเดิมที่กำหนดราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดา และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ที่กก.ละ 19-20 บาท และราคาขายปลีก ที่กก.ละ 24-25 บาท และคุมการส่งออก ที่กำหนดให้การส่งออกตั้งแต่ 1,000 กก.ขึ้นไปจะต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน
โดยกกร.จะออกประกาศฉบับใหม่ กำหนดเพียงราคาหน้าโรงงานเท่านั้น ที่กก.ละ 21-22 บาท ตามมติครม.ที่ให้ปรับขึ้นกก.ละ 2 บาท ส่วนราคาขายปลีก ไม่ได้กำหนด ขณะที่การส่งออก ไม่ต้องขออนุญาตกรมการค้าภายในแล้ว เพียงแค่ให้แจ้งปริมาณส่งออก และปริมาณน้ำตาลคงเหลือในสต็อก เพื่อให้กรมการค้าภายในสามารถติดตามดูแลปริมาณน้ำตาลในประเทศ ไม่ให้เกิดการขาดแคลน ล่าสุดกรมการค้าภายในออกมาชี้แจงถึงการไฟเขียวปรับราคาน้ำตาล 2 บาทเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้ง 2 ฝ่ายทั้งเกษตรชาวไร่อ้อย ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น และผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ย้อนกลับไปไม่กี่สัปดาห์ ปมร้อนการปรับขึ้นราคาน้ำตาล เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 ต.ค.66 โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) แอบไฟเขียวปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายขาว 4 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผลทันที ก็ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดค้าปลีก โชห่วย น้ำตาลทรายหายไปหรือมีน้อย ร้านขายขนมจ่อปรับขึ้นราคาขนม และอีกมากมาย
ขณะที่ฝ่ายการเมืองที่ดูแลราคาน้ำตาลอย่างกระทรวงพาณิชย์ก็ยังมึนงงทั้งที่ออกมาให้ความเห็นว่าไม่สมเหตุสมผลในการปรับขึ้นราคาน้ำตาล จนกระทั่งใช้อำนาจของกกร.ประกาศประกาศให้”น้ำตาล”เป็นสินค้าควบคุม เบรกประกาศของ สอน. กระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ขึ้นราคาน้ำตาลเป็น 4 บาท มีผลตั้งแต่ 28 ต.ค.66 แต่ชาวไร่อ้อยขู่ปิดโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 5 พ.ย. หากไม่ปรับราคาจนเป็น“ภูมิธรรม เวชยชัย” ตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจับเข่าคุยกับชาวไร่อ้อย สุดท้ายก็ต้องยอมให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 2 บาท
ความพยายามปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศครั้งนี้ ยกเหตุผลอ้างจาก 1.จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก จากราคาอ้อยที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตลดลง คาดว่า การหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 66/67 ผลผลิตอ้อยอาจเหลือเพียง 75-80 ล้านตัน หรือลดลงประมาณ 10% จากปี 65/66 นอกจากนี้ การเก็บเงินเข้ากองทุนกก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลโดยไม่ใช้วิธีการเผา เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5
2.ราคาน้ำตาลโลกสูงกว่าราคาน้ำตาลในไทยในตลาดโลกโดยราคาน้ำตาลไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 20-23 บาทต่อกก.ขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ประมาณ ขณะที่ไทยจำหน่ายน้ำตาล 20-23 บาท แต่ราคาของตลาดโลกจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 27 บาทต่อกก.
ข้ออ้างการขึ้นราคาน้ำตาลก็เป็นเหตุผลที่น่ารับฟังในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งปัจจัยการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่าพลังงาน และค่าแรงงาน แต่ในส่วนของราคาน้ำตาลของไทยจะให้ปรับขึ้นเท่ากับราคาตลาดโลก ที่กก.ละ 27 บาท น่าจะไม่สมเหตุสมผลและไม่ยุติธรรมสำหรับคนไทย เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่รายหนึ่งของโลก การบริโภคน้ำตาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก จึงสมควรแล้ว เหมือนผู้บริโภคประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ที่ซื้อน้ำมันราคาต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ผลิตมาก อีกทั้งไม่จำเป็นที่คนไทยต้องแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับผู้บริโภคประเทศอื่นที่นำเข้าน้ำตาล
หากมองในเหตุผลทางการเมือง การไฟเขียวขึ้นราคาน้ำตาลก็อาจจะเป็นไปได้ที่รัฐบาลไม่ต้องการให้มี“ม็อบ” ออกมาปั่นป่วนเสถียรภาพของรัฐบาลในเวลานี้ เนื่องจากขณะที่รัฐบาลเจอมรสุมทางเมืองหลายลูก หากมีม็อบชาวไร่อ้อยขึ้นมาก็เท่ากับเป็นการสร้างหนักใจให้กับรัฐบาลเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นการปล่อยให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลก็จะสยบม๊อบ และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ในระยะเวลานี้ และเป็นเรื่องที่สมประโยชน์
อุตสาหกรรมน้ำตาล มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 51 แห่ง มีกำลังการผลิต 1 ล้านตันอ้อยต่อวัน แต่ละปีมีผลผลิตประมาณ 10 ล้านตัน บริโภคในประเทศ ใช้ในอุตสาหกรรมและครัวเรือน 2.5 ล้านตัน เหลือส่งออก 7.5 ล้านตัน
แน่นอนว่าการขยับปรับขึ้นราคาน้ำตาลย่อมส่งผลให้มูลค่าน้ำตาลขยับเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า มี“ใคร”ได้ประโยชน์จากการปรับราคาน้ำตาล 2 บาท เพราะแว่วว่าเพียงแค่ 2 วันที่สอน.แอบขึ้นราคาน้ำตาลมีคนได้ผลประโยชน์มหาศาลไปแล้วจากการปรับขึ้นราคา 4 บาท