ราคาพลังงานของจริงกลับมาแล้ว! เตรียมรับมือ 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ขึ้นราคา ม.ค.67
ราคาพลังงานของจริงกลับมาแล้ว! ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือราคา 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ทะยอยปรับขึ้นราคา เริ่ม 1 ม.ค. 2567
จากกรณีที่คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ประกาศค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าFt) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ราคาพลังงาน ส่งผลให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมออกมาเรียกร้องขอให้ภาคนโยบายออกมาดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการปรับลดราคาค่าไฟงวดดังกล่าวให้ลดลง เพราะส่งผลกระทบถึงต้นทุนต่ออุตสาหกรรมจากการที่ไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนเดิมในกระบวนการผลิตสินค้าที่ 20% บวกเพิ่มขึ้นไปอีกระดับ 4-6%
รวมถึงกระทรวงพลังงาน โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ดำเนินการในเรื่องของราคาค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.เม.ย. 2567 ให้ลดลงกว่ามติ กกพ.
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน มีแผนปรับลดการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด แต่ด้วยพลังงานหมุนเวียนยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง หากนำมาใช้มากเกินไปอาจจะยิ่งกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจึงเตรียมหารือกับ กกพ. เพื่อให้พิจารณาการคำนวณค่า Ft ว่าจะมีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับลดได้เพิ่มขึ้นบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งจะหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อของบกลางมาช่วยเหลือเพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน และจะพยายามทางหาลดให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นอกจากปัญหาค่าไฟที่จะปรับขึ้นเดือนม.ค. 2567 แล้ว ยังมีราคาน้ำมันที่หากไม่มีมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐ จะส่งผลให้ ราคาน้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการที่ปัจจุบันภาครัฐใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตร่วมกับใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคุมราคาอยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร จะครบกำหนดในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 นี้
ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน แบ่งเป็น แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงประมาณ 1 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ลดลงประมาณ 80 สตางค์ต่อลิตร ก็จะครบกำหนดวันที่ 31 ม.ค. 2567 ตามมาเช่นกัน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลว่าจะสามารถพยุงราคาน้ำมันดีเซลได้ต่อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาได้มีการกู้เงินเข้าบัญชีเพื่อเสริมสภาพคล่อง และจ่ายคืนหนี้ให้กับคู่ค้ามาตรา 7 แล้ว 65,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 26 พ.ย. 2566 บัญชีรวมติดลบที่ 77,717 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 31,891 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนติดลบ 45,826 ล้านบาท
"แนวโน้มทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกช่วงสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งน้ำมันดีเซลตลาดโลกน่าจะอยู่ระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งในช่วงนี้โชคดีหน่อยที่ราคาน้ำมันลงทำให้กองทุนน้ำมันฯ ควักอุดหนุนราวลิตรละ 1 บาทกว่า ๆ แต่หากไม่มีมาตรการลดภาษีร่วมก็จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักเงินในระดับ 3-4 บาทต่อลิตร เป็นต้น"
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานก็ยังคงหวังว่า กระทรวงการคลัง โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเห็นใจและขยายระยะเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน แต่หากให้กระทรวงพลังงานอุ้มราคาต่อไปแบบนี้ วันที่ 1 ม.ค. 2567 อาจจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจาก 29.94 บาทต่อลิตร เป็น 31.94 บาทต่อลิตร