ก้าวข้าม 5 ความท้าทายปีมังกร | พงศ์นคร โภชานนท์
ณ ปลายปี 2566 หน่วยงานมีประกาศประมาณการเศรษฐกิจเป็นประจำทุก 3 เดือน โดยได้คาดการณ์ตรงกันเป็นครั้งแรกว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.5 ต่อปี
หวังว่ารอบนี้จะไม่ “เดจาวู” เหมือนปีที่แล้ว ที่ช่วงปลายปี 2565 คาดกันว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวได้สูงกว่าร้อยละ 3 แต่ระหว่างทาง พากันทยอยปรับลดประมาณการลง 2 ครั้งบ้าง 3 ครั้งบ้าง
พอใกล้จบปี ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวลงมาเหลือร้อยละ 2 กว่าๆ เท่านั้น ถ้าเป็นไปตามที่คาด ปี 2567 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีกว่าปี 2566 ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
แต่ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวนี้ ยังมีความท้าทายซ่อนอยู่ แม้จะเป็นความท้าทายในระยะยาวที่มีผลต่อการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ แต่หากทำนโยบายระยะสั้น บวกสั้น บวกสั้น ไปเรื่อยๆ ทุกปี ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวนี้ได้ และหากปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง การแก้ปัญหาจะยิ่งยากขึ้น
ความท้าทายที่ว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 เรื่อง
เรื่องที่ 1 รักษาพื้นที่เชิงนโยบาย เพื่อรับมือโลกเสี่ยงขัดแย้ง ผันผวน และโตต่ำ
ผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนราว 5-6 ปีก่อน กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและปริมาณการค้าโลกพอสมควร
ตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ปี 2565 ทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน และส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องไปถึงปีหน้า
จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ทำให้ IMF ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ลงไปอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี น้อยกว่าปี 2566 ที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ที่ต้องจับตาคือ ปัญหาช่องแคบไต้หวันและคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งทั้งไต้หวันและเกาหลีใต้ครองส่วนแบ่งการตลาดเซมิคอนดักเตอร์รวมกันร้อยละ 80 ของโลก
เจ้าตัวนี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ฝั่งอยู่ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ และทั้ง 3 สินค้านี้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ดังนั้น ผู้ดูแลนโยบายการคลังและการเงินต้องรักษาพื้นที่เชิงนโยบาย (Policy space)
เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ห่วงโซ่อุปทาน และการเติบโตของเศรษฐกิจ
เรื่องที่ 2 ยกระดับศักยภาพการเติบโต เพื่อฉุดไทยพ้นโตต่ำตามสภาพ
ย้อนหลังไปสั้นๆ เราจะเห็นเศรษฐกิจปี 2566 เรียงกัน 3 ไตรมาส ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1, 2 และ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.6 1.8 และ 1.5 ต่อปีตามลำดับ และถ้าย้อนหลังไป 20 ปี จะพบว่าnเศรษฐกิจไทยขยายตัว 20 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี
แต่หากแยกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปีจะพบว่าปี 2546-2550 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.6 ต่อปี ช่วงปี 2551-2555 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี ช่วงปี 2556-2560 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ต่อปี ช่วงปี 2561-2565 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.9 ต่อปี
ความจริงที่เห็นคือ การลดระดับการเติบโตลงเรื่อยๆ ดังนั้น การจะหวังเพิ่มอัตราการเติบโตให้กลับไปเท่าอัตราการเติบโตที่เต็มศักยภาพ (Potential GDP Growth) แถวๆ ร้อยละ 3.5 ต่อปีคงไม่พอ เพราะมันแค่ค่าเฉลี่ยตามสภาพ แต่เราต้องคิดยกระดับการเติบโตไปที่ระดับศักยภาพใหม่ให้ได้ อาจจะเป็นร้อยละ 4-5 ต่อปี
เรื่องที่ 3 ปลุกยักษ์หลับ เพื่อกระตุ้นการลงทุนขับเคลื่อนประเทศ
นับตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540-2541 สัดส่วนการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 25 ยาวนานมาถึงปัจจุบัน ปี 2565 ก็อยู่ที่ร้อยละ 25 ของ GDP กินเวลาถึง 25 ปีเต็มๆ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น การลงทุนคือยักษ์ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เมื่อยักษ์หลับ บทบาทในการควบคุมจังหวะการเติบโตของเศรษฐกิจจึงตกไปอยู่ในภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนใน GDP มากถึงร้อยละ 69
ในปี 2565 แต่เจ้าตัวนี้ดันไปผูกโยงอยู่กับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันปี 2565 มูลค่าการลงทุนรวมที่ขจัดผลของเงินเฟ้อออกไปแล้ว หรือที่เรียกว่า Real Total Investment อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่งกลับมาใกล้เคียงระดับเดิมเมื่อ 25 ปีที่แล้วที่ 2.7 ล้านล้านบาท
ดังนั้น เราต้องชดเชยเวลาและเสียไปกับการถมช่องว่างของการลงทุนที่ควรจะเป็นที่หายไปถึง 25 ปี ยักษ์หลับไป 25 ปี โดยการปลุกยักษ์ที่หลับให้ตื่นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพเพื่อการเเติบโตในอนาคตให้มากกว่าที่เป็นอยู่
เรื่องที่ 4 ตั้งหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อรับผิดชอบเรื่องโครงสร้างประชากร
ปัจจุบันจำนวนคนสูงอายุอยู่ที่ 12.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.4 ของประชากร ขาดอีกร้อยละ 0.6 หรือประมาณ 400,000 คน ก็จะแตะร้อยละ 20 ของประชากร หรือเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คาดว่าภายในกลางปีหน้าน่าจะแตะร้อยละ 20
นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26 สวนทางกับเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงร้อยละ 25 เหลือเพียง 5 แสนคน ณ สิ้นปี 2565 เท่านั้น ปีนี้ก็อาจจะทำสถิติต่ำสุดอีกก็เป็นได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเราจะขาดแคลนแรงงาน และฐานภาษีในเชิงจำนวนคน ดังนั้น เราควรมีหน่วยงานที่ ทำหน้าที่วางแผนเรื่องโครงสร้างประชากรอย่างจริงจัง มากกว่าการรายงานสถานการณ์เพื่อทราบ
หากจะเพิ่มประชากร จะเพิ่มขึ้นเพียงใด ใครต้องทำอะไร อย่างไร ผ่านเครื่องมือเชิงนโยบายอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าใด รัฐบาลจะสนับสนุนภาระค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง หากจะไม่เพิ่ม ก็ต้องบอกได้ว่าจะเพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงานและทุนมนุษย์อย่างไร หุ่นยนต์ เครื่องกล ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาช่วยอย่างไร
เรื่องที่ 5 หยิบก้อนกรวดออกจากรองเท้า เพื่อบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรัง
หนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 90.7 ของ GDP สูงทะลุร้อยละ 80 มาแล้ว 10 ปี ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะครัวเรือนฐานราก
และจากการสำรวจรอบ 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่าจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 51.5 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2564 เหลือร้อยละ 48.5 แต่มูลค่าหนี้กลับเพิ่มขึ้นจาก 2.05 แสนบาท/ครัวเรือน เป็น 2.08 แสนบาท/ครัวเรือน
ดังนั้น การแก้หนี้ต้องแก้พร้อมกันทั้งหนี้ในและนอกระบบ ต้องเริ่มจากการมีฐานข้อมูลรายบุคคลและรายพื้นที่ หนี้ในระบบ มีแล้ว ตอนนี้รัฐบาลกำลังรับลงทะเบียนผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาตรงตัว ถูกจุด มากยิ่งขึ้น แต่ต้องทำควบคู่กับการเพิ่มรายได้ บรรเทารายจ่าย และสร้างวินัยการออม
จะเห็นว่าทั้ง 5 เรื่องนี้ ไม่หมู แต่ถ้าเราเตรียมการรับมือและวางแผนให้ดีไว้แต่เนิ่นๆ ผมเชื่อว่าเราจะก้าวข้ามปี 2567 ปีมังกร ปีแห่งความท้าทายนี้ไปได้ครับ
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด