ข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยคืออุปสงค์หรืออุปทาน? (1)
ปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยนั้น มีความเห็นแตกเป็นหลักๆ 2 ค่ายคือ รัฐบาลมองว่าอุปสงค์ (demand) ไม่แข็งแรงต้องกระตุ้น โดยรัฐบาลใช้นโยบายการคลัง กู้เงินมาแจกจ่ายให้แประชาชน นำไปใช้จ่ายในปี 2024
อีกค่ายหนึ่ง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และจะฟื้นตัวต่อไป เพราะการบริโภคดีวันดีคืน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า การที่จีดีพีขยายตัวได้เพียง 3% ต่อปีนั้น เป็นเพราะว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาโครงสร้าง
คือเป็นปัญหาอุปทาน (supply) แก้ไขได้ โดยการปฏิรูปโครงสร้าง เช่น การเพิ่มทักษะแรงงาน การเพิ่มคุณภาพการศึกษา การพัฒนานวัตกรรม และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อการลงทุน
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผมก็เห็นด้วยว่า ในระยะยาวนั้นปัญหาหลักของเศรษฐกิจทุกๆ ประเทศคือ ข้อจำกัดด้านอุปทาน เพราะมนุษย์มีความต้องการ (wants) ที่ไม่มีขีดจำกัด แต่ทรัพยากรนั้นมีปริมาณจำกัด
สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อจำกัดด้านอุปทานมีความชัดเจนอย่างมาก เช่น จำนวนประชากรในวัยทำงาน (อายุ 15-64) จะลดลงจากประมาณ 50.1 ล้านคนในปี 2020 เหลือเพียง 38.6 ล้านคนในปี 2050
นอกจากนั้น ในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็คงจะใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีอยู่ไปจนหมด โดยต้องทดแทนด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวที่ราคาแพงกว่าอย่างมาก
นอกจาก 2 ปัจจัยการผลิตที่สำคัญดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีที่ดินซึ่งมีปริมาณอยู่อย่างจำกัด และหากจะนำเอามาใช้ ก็ต้องลงทุนพัฒนา เช่น การขุดเอาแร่โปแตชใต้ดินมาใช้ แต่ก็ต้องลงทุน และระมัดระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมซึ่งมีต้นทุน
กล่าวคือ ปัจจัยการผลิตที่จะสามารถสรรหาเพิ่มได้โดยไม่ได้มีข้อจำกัดอย่างเป็นประจักษ์มีอยู่ 2 ปัจจัย คือการลงทุน (capital) และการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น ย่อมต้องอาศัยการลงทุน ดังนั้นผมพจึงมองว่าควรควบรวมทั้งสองปัจจัยเป็นปัจจัยเดียวคือ การลงทุนที่มีคุณภาพ
หากพิจารณาประวัติการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกในช่วง 2 พันปีที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกพัฒนาอย่างเชื่องช้ามาในช่วง 1,700 ปีแรก แต่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วง 300 ปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านการผลิต (และด้านอื่นๆ) ทำให้สามารถผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
แต่การนำเอาเทคโนโลยีมาสู่ตลาดจนประสบความสำเร็จทางการพาณิชย์นั้น เกิดขึ้นได้จากการมีระบบเศรษฐกิจที่เปิดและเสรีทั่วโลก ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าและลงทุนข้ามประเทศ แรงขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ดังกล่าว เกิดจากการระดมทุนและ "ความกล้าได้กล้าเสีย” (ที่ Keynes เรียกว่า animal spirits of capitalists) เพื่อแสวงหากำไร
กล่าวโดยสรุปคือ ในความเห็นของผมนั้น ความสำเร็จทางเศรษฐกิจในช่วง 300 ปีที่ผ่านมา เกิดจากหารผสมผสานกันระหว่างการลงทุน (ที่ต้องการแสวงหากำไร) กับการพัฒนาของเทคโนโลยีในกรอบของโลกาภิวัตน์
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวของประเทศคือ วิกฤติน้ำมันในทศวรรษ 70 ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติมาทดแทนน้ำมันดิบอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ทศวรรษ 80 เป็นต้นมา แต่ก็ต้องมีการสำรวจและระดมทุนเพื่อแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติทั่วโลก
ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ “โชคดี” พบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แต่หากไม่ยอมให้บริษัทข้ามชาติมาสำรวจและร่วมเสี่ยงลงทุนในการขุดเอาก๊าซออกมา ก็จะไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างก้าวกระโดดในช่วง 1985-1992.
สำหรับประเทศไทยนั้น การลงทุนย่อมจะเป็นปัจจัยหลัก ในการขับเคลื่อนให้หลุดพ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบต่ำต้อย เช่นที่ผ่านมาหลายปีก่อนโควิดระบาด อันนี้เห็นได้จากที่จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.98% ต่อปีในช่วง 2014-2019 ซึ่งเกิดขึ้นเพราะช่วงเดียวกัน การขยายตัวของการลงทุน (Gross Fixed Capital Formation) ต่ำมาก คือเฉลี่ยเพียง 2.13% ต่อปี
นอกจากนั้น ในช่วง 2015-2019 เงินทุนไหลออกสุทธิจากประเทศไทยจำนวนมากทุกปี รวมทั้งสิ้น 105,760 ล้านเหรียญ (เฉลี่ยปีละ 17,630 ล้านเหรียญ) หรือเทียบเท่า 3.70 ล้านล้านบาท
การที่คนไทยไม่ลงทุนในประเทศไทย ต้องหันไปลงทุนในต่างประเทศนั้น เกิดขึ้นเพราะผลตอบแทนการลงทุนในต่างประเทศ คงจะสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง และน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จีดีพีไทยขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ต่อปีในช่วงก่อนการระบาดของโควิด
ดังนั้น หลังจากการระบาดของโควิด ที่ประเทศไทยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้เชื่องช้ากว่าประเทศอื่นๆ และล่าสุด (เดือนตุลาคม 2023) ไอเอ็มเอฟประเมินว่า “global growth to slow down from 3.5% in 2022 to 3.0% in 2023 and 2.9% in 2024, well below historical (2000-2019) average of 3.8%”
แปลว่า หากดูจากอดีต 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจีดีพีไทยไม่เคยสามารถขยายตัวได้สูงกว่าจีดีพีโลก ก็ต้องตั้งคำถามว่า จีดีพีไทยจะขยายตัวได้เกินกว่า 3.0% ในปีหน้าและปีต่อๆ ไปจริงหรือ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า การลงทุน เป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนอุปทานของประเทศ ดังนั้น สัปดาห์หน้า ผมจะเขียนถึงปัจจัยต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการลงทุนครับ.