Geopolitics เดือด ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ?
สหรัฐ-จีน เขม่นกันมาหลายปีในทุกมิติ ทั้งการเมือง การค้า และเทคโนโลยี ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดการแข่งขันทางความมั่นคง และมิติทางด้านเศรษฐกิจในเอเชีย แล้วไทยจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้
Geopolitics ไม่ใช่ถ้อยคำในตำรารัฐศาสตร์ ไม่ใช่คำพูดเก๋ๆ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นคำที่ผู้คนได้ยินกันทุกวันและกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนทั่วทุกมุมโลก วานนี้ (31 ม.ค.) กรุงเทพธุรกิจจัดงานใหญ่ Geopolitics 2024: จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย ระดมสมองผู้รู้ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางบอกให้ทราบว่าไทยควรจะเดินไปทางไหนในยุคความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระอุ
ยืนยันจากปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ความแตกแยกของโลกยังคงเป็นไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง และประเทศไทยเผชิญความท้าทายหลายด้าน ปัจจัยหนุนมีอยู่บ้างเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจสหรัฐ-จีนเป็นไปในทิศทางบวกมากขึ้น ประจักษ์หลักฐานสำคัญเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาคือ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐพบกันที่ประเทศไทย
สหรัฐกับจีน คือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองของโลก เขม่นกันมาหลายปีในทุกมิติไม่ว่าการเมือง การค้า และเทคโนโลยี แม้แต่สงครามที่กำลังระอุอยู่ตอนนี้ จีนไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ยังถูกพาดพิงในแง่ที่จีนเป็นเพื่อนกับรัสเซียและอิหร่าน อิหร่านประกาศชัดสนับสนุนกลุ่มฮูตีที่ใช้กลยุทธ์โจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ที่กำลังโดนอิสราเอลถล่ม พูดแค่นี้ก็เห็นแล้วว่าอีนุงตุงนังขนาดไหน
กูรูเห็นพ้องต้องกันว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นหลัก ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนทำให้เกิดการแข่งขันทั้งเรื่องความมั่นคง และมิติทางด้านเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่งจีนมีความได้เปรียบทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่าในอาเซียน แต่สหรัฐมีความสัมพันธ์ในเชิงความมั่นคงมากกว่ากับประเทศในแถบนี้ เรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างมีจุดแข็งกันคนละด้าน แล้วไทยเราจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้
ภาคเอกชนกล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยปีนี้ส่อเค้าเพิ่มขึ้นเหตุจาก Geopolitics ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาโมเมนตัมนี้ ทิศทางการทูตไทยท่ามกลางโลกปั่นป่วน ต้องกระทำผ่านการทูตเชิงรุก รักษาความเป็นมิตรและมีความสัมพันธ์อันดีต่อทุกขั้ว และหลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การที่ซัลลิแวนและหวังอี้มาพบกันที่เมืองไทยเป็นตัวอย่างชัดเจนอันหนึ่ง ว่าไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศถึงขนาดที่สื่อนอกวิเคราะห์นี่คือชัยชนะทางการทูตครั้งสำคัญของรัฐบาลไทย