จับตา‘บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต’ วันนี้ ถก‘วาระลับ’เคาะแหล่งเงินกู้ 5 แสนล้าน
"เศรษฐา" นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตวันนี้ จับตาถกวาระลับแหล่งเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ถกข้อกฎหมายที่กฤษฎีกาให้ความเห็น ก่อนเดินหน้าออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พร้อมรับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบโครงการ - พัฒนาระบบ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการ นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเป็นประธานในวันนี้ (15 ก.พ.) มีวาระที่สำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณาหลายวาระด้วยกัน และถือเป็นการประชุมบอร์ดที่สำคัญเนื่องจากการหารือในที่ประชุม รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการจะเกี่ยวข้องกับการเดินหน้าโครงการนี้
ทั้งนี้วาระการประชุมที่สำคัญจะมีการประชุมวาระลับ ในเรื่องของผลการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเรื่องแหล่งเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กู้เงิน ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินต่อไป
ซึ่งในขั้นตอนนี้กระทรวงการคลังได้มีการสอบถามยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการกู้เงินตามที่รัฐบาลมีแผนจะเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงินฯวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณาคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายหรือไม่
ก่อนหน้านี้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่าการร่างกฎหมายกู้เงินนั้นปกติแล้วจะมีมาตราที่เกี่ยวข้องไม่กี่มาตรา และส่วนที่มีความสำคัญที่สุดคือการร่างกฎหมายกู้เงินนั้นจะต้องไม่ขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
ด้านนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่ากระทรวงฯได้เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินไว้พร้อมแล้วรอขั้นตอนทางกฎหมายหากสามารถเดินหน้าต่อได้ก็จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ ครม.และสภาฯตามลำดับต่อไป
นอกจากนี้จะมีวาระที่แจ้งคณะกรรมการฯทราบได้แก่ การสรุปข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในโครงการนี้ ที่เสนอโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นอกจากนั้นเป็นวาระแนวทางการดำเนินการตามผลการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน 2 ประเด็นได้แก่
1.แนวทางการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อตอบข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีก และ 2.แนวทางการขยายขอบเขตการพัฒนาระบบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้เพื่อป้องกันการทุจริตภายใต้โครงการฯ
รวมทั้งจะมีการเสนอาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ