ศรีตรัง ประกาศเปิดตัว “ยางมีพิกัด ” ยืนหนึ่งตอบรับทุกกฎในโลกนี้

ศรีตรัง ประกาศเปิดตัว “ยางมีพิกัด ” ยืนหนึ่งตอบรับทุกกฎในโลกนี้

ยางพารา ‘กลุ่มบริษัทศรีตรัง’ตรวจสอบย้อนกลับได้100 % เป็น “ยางมีพิกัด (GPS)” มิติใหม่ของความยั่งยืน พร้อมรับมาตรการEUDRและทุกมาตรการในโลก วางเป้ายอดขายปีนี้ 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15%

KEY

POINTS

  • กลุ่มศรีตรังได้ปรับปรุงโรงงาน ผลิตภัณฑ์ และทำความเข้าใจกับเกษตรกร จนปัจจุบันสามารถตรวจสอบย้อนกลับยางพาราได้ทั้งระบบ  หรือเรียกว่า  “ยางมีพิกัด(GPS)” 
  • บริษัทฯ มีความพร้อมรับมือการบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป หรือ EUDR ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนเป็นภูมิภาคแรกภายในสิ้นปี 2567
  • วางเป้าหมายยอดขายปี 2567 รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15%  ในจะเป็น ยางมีพิกัด อย่างน้อย 50 % สำหรับเจาะกลุ่มตลาดอียูโดยเฉพาะเป้ารายได้ทั้งปีที่ 1 แสนล้านบาท
  •  

กลุ่มศรีตรัง ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนความยั่งยืน ศรีตรังได้เปิดตัว “ยางมีพิกัด”หรือ“ยางGPS”ร่วมกับผู้บริหารและพนักงานกลุ่มบริษัทศรีตรังทั้ง 26 สาขาในประเทศไทย และบริษัทย่อย 2 แห่งในอินโดนีเซีย  ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการส่งออกยางภายใต้กฎระเบียบ EUDR ที่จะมีผลทางปฏิบัติ ปลายปีนี้

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA  เปิดเผยว่า ความซบเซาของตลาดยางพาราในช่วงโควิด เริ่มกลับมาสดใสอีกครั้ง โดยความต้องการของตลาดขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แล้วเป็นสัญญาณที่ดีของแนวโน้มด้านราคาและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 

ศรีตรัง ประกาศเปิดตัว “ยางมีพิกัด ” ยืนหนึ่งตอบรับทุกกฎในโลกนี้

อย่างไรก็ตามการส่งออกปัจจุบันมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมากขึ้น จากกระแสความยั่งยืนของโลก โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู ที่ออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation)  จะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2567 

ทั้งนี้กลุ่มศรีตรังได้ติดตามและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยได้ปรับปรุงโรงงาน ผลิตภัณฑ์ และทำความเข้าใจกับเกษตรกร จนปัจจุบันสามารถตรวจสอบย้อนกลับยางพาราได้ทั้งระบบ  หรือเรียกว่า  “ยางมีพิกัด(GPS)” เพื่อแสดงความพร้อมตอบรับมาตรการหรือกฎหมายจากทั่วโลกที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางธรรมชาติที่จำหน่าย และแสดงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและโปร่งใส ตรวจสอบได้

ปัจจุบันบริษัทฯ มีความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป หรือ EUDR ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนเป็นภูมิภาคแรกภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางธรรมชาติไปยุโรป ต้องผ่านการตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกป่าสงวน

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทศรีตรังพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยในระดับสากล ให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาของยางได้ 100% เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้อยู่เหนือมาตรฐานประเทศอื่นๆ และเป็นโอกาสที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง สร้างความได้เปรียบทางการค้าของไทย ไปจนถึงโอกาสในด้านราคายางที่เพิ่มขึ้น

 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีโอกาสและความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ จากหน่วยงานการยางแห่งประเทศไทย ที่ช่วยดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราไทยมาโดยตลอด ดังนั้น“ยางมีพิกัด (GPS)”จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจที่ช่วยผลักดันทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ซึ่ง ‘ยางมีพิกัด’ จะไม่ได้แค่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตลาดในยุโรปเท่านั้น แต่ ‘ยางมีพิกัด’ จะสามารถตอบโจทย์ในตลาดทั่วโลกได้

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติปี 2567 นั้น มีแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากดีมานด์ยางในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัว จากการที่ลูกค้าได้ระบายสต๊อกกลับมาอยู่ในระดับปกติ ประกอบกับความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีผลให้ฝนตกลดลงและกระทบต่อผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด นอกจากนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อภาพรวมดีมานด์อุตสาหกรรมยางธรรมชาติ เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก

ขณะที่สถานการณ์ราคายางธรรมชาติเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยยาง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนม.ค.- ก.พ. 2567 อยู่ที่ 152.7 – 155.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากจากราคาเฉลี่ยเดือนธ.ค.อยู่ที่ 145.4 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นราว 5-7%

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางเป้าหมายปริมาณการขายยางทุกประเภทในปี 2567 รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายรวม 1.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้ตั้งเป้าเป็น ยางมีพิกัดในปี67 อย่างน้อย 50 % สำหรับเจาะกลุ่มตลาดอียูโดยเฉพาะ  ขณะที่ปริมาณการขยายยางดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนการตลาดในประเทศ 30 % และสัดส่วนการส่งออกของไทย 10-12 % โดยมีรายได้ในปีที่ผ่านมา รวม 8 หมื่นล้านบาท เป้าหมายรายได้ในปีนี้ อยู่ 1 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคายางในตลาดด้วย

 โดยศรีตรัง มุ่งเน้นการบริหารสต๊อกยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีระบบ Automation เข้ามาใช้ภายในโรงงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมุ่งขยายธุรกิจให้เติบโต มีการขยายกำลังการผลิตในไทย และเปิดศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรี่โคสต์ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตยางพารา

 พร้อมกับการเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ แบบรอบด้านทุกส่วนสำหรับรองรับ EUDR หรือกฎมาตรการอื่นๆ ของตลาดทั่วโลก ทั้งนี้การดำเนินการด้านความยั่งยืนถือเป็น DNA ของบริษัทและบริษัทเป็น Growth Company ที่ไม่หยุดพัฒนาและพร้อมปรับตัวเสมอ เพื่อครองความเป็น “ผู้นำองค์กรแห่งยางสีเขียวแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน”ตลอดไป โดยในปีนี้ยังกำหนดวงเงินลงทุนไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิต ประสิทธิภาพโรงงาน การติดตั้งระบบ AI  เป็นต้น และในปีนี้มีโรงงานใหม่ที่จะเริ่มเปิดดำเนินการได้แล้ว 4 แห่งคือ ที่จ. พิษณุโลก มุกดาหาร นราธิวาส และที่เมียนมา 

นางสาวปภาวี ศรีสุทธิพงศ์Business Development and Partnership Manager บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า“ยางมีพิกัด(GPS)”คือยางธรรมชาติ เช่น ยางถ้อนถ้วย, น้ำยางสด, ยางแผ่น เป็นต้น ที่สามารถระบุหรือตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางได้ว่ามาจากพื้นที่สวนไหน ของใคร ซึ่งต้องเป็นสวนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเป้าหมายจำนวนเกษตรกรและผู้ค้ายางที่จะทำยางมีพิกัดกับศรีตรัง จำนวน 100,000 ราย ภายในสิ้นปี 2567 และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ภายในสิ้นปี 2568 หรือประมาณ พื้นที่ปลูกยางประมาณ 3 ล้านไร่ 

ศรีตรัง ประกาศเปิดตัว “ยางมีพิกัด ” ยืนหนึ่งตอบรับทุกกฎในโลกนี้

 

ทั้งนี้“ยางมีพิกัด (GPS)”จะช่วยส่งเสริมให้ Sri Trang Ecosystem มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการตอกย้ำถึงกระบวนการทำงานของศรีตรังที่มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ของกลุ่มบริษัทศรีตรัง อาทิ แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends , แอปพลิเคชัน Sri Trang Friends Station , บริการ Super Driver และระบบ Smart factory ที่ช่วยทรานส์ฟอร์มกระบวนการรับซื้อยางสู่ดิจิทัล เชื่อมโยงผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ ได้แก่ ชาวสวนยาง, ผู้ค้ายาง, ผู้ขนส่งยาง, ชุมชน, คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาง ซึ่งจะสร้างมิติใหม่แก่อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยางพาราในตลาดโลก