‘TDRI’ เตือนรัฐบาล เปิดศึก แบงก์ชาติ สุดท้ายเศรษฐกิจพัง-นายกฯอยู่ไม่ได้
ประธานทีดีอาร์ไอออกโรงเตือนรัฐบาลไม่ควรทะเลาะกับแบงก์ชาติ ต่างคนต่างทำหน้าที่ ชี้หากแทรกแซงเศรษฐกิจอาจพัง และนายกฯก็อยู่ไม่ได้ ยกตัวอย่างตุรกี - อังกฤษ ระบุแจกเงินดิจิทัลต้องดูบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาผลทางเศรษฐกิจน้อยไม่ถึง 1 เท่า เครดิตประเทศเสี่ยงถูกหั่น
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนา “PRACHACHAT BUSINESS FORUM #ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง” เมื่อเร็วๆนี้ว่าความขัดแย้งกับรัฐบาลที่มีปัญหากับธนาคารกลาง (central bank) เป็นสิ่งที่มีบทเรียนให้เห็นมาแล้วในต่างประเทศว่าไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
“เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในต่างประเทศ อยากให้นายกรัฐมนตรี ไปปรามทีมงานของท่าน ว่าอย่าไปเที่ยวโจมตีธนาคารกลางซึ่งต่างคนต่างทำหน้าที่ และมีความเห็นต่างกันซึ่งไม่แปลก แต่ไม่ควรมีการโจมตีกัน”
ทั้งนี้ตัวอย่างในต่างประเทศที่รัฐบาลและธนาคารกลางมีปัญหากันและเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่น ในประเทศตุรกีรัฐบาลไล่กรรมการแบงก์ชาติตุรกีออกไป 3 คน เพราะต้องการให้เกิดการลดดอกเบี้ยขึ้นผลก็คือต่อมาเกิดเงินเฟ้อขึ้นมาเกินกว่า 80% ในตุรกี เศรษฐกิจก็เสียหายไปมาก
ส่วนในประเทศอังกฤษ ในสมัยของลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากตอนนั้นต้องการลดภาษี ขาดดุลการคลัง และไม่ฟังแบงก์ชาติ ไม่เคยหารือด้วย สุดท้ายนายกฯเองก็อยู่ในตำแหน่งไม่ได้
สำหรับความเห็นต่อนโยบายการผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล นายสมเกียรติกล่าวว่าในเรื่องนี้กระบวนการวางแผนนโยบยายยังไม่ดีพอ และถือว่ารัฐบาลไม่ได้เรียนรู้จากข้อมูลในอดีต เช่น เรื่องของการแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท เพราะนี่ไม่ใช่การแจกเงินครั้งแรกในไทย และไม่ใช่การแจกเงินครั้งแรกในโลก แต่มีการแจกกันมาแล้วหลายยุคหลายสมัย โดยในประเทศไทยมีการแจกเงินหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินผันตั้งแต่สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เงินหมุไปในสมัยรัฐบาลทักษิณ เช็กช่วยชาติ คนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สมัยของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
กรณีของประเทศไทยการแจกเงินนั้นเมื่อศึกษาจากในอดีตพบว่าตัวคูนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น จากการอัดฉีดเงินไม่ได้สูงอย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ แต่หากไปดูข้อมูลจากในอดีตตัวคูนในการแจกเงินนั้นอยู่แค่ 0.4 - 0.5% ซึ่งไม่ได้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจแบบที่รัฐบาลบอก ส่วนเมื่อดูจากต่างประเทศก็จะพบว่าการแจกเงินตัวคูนทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้มากยกเว้นว่าเวลาแจกในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ ซึ่งผลจากการศึกษาของสหรัฐฯการแจกเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจหนึ่งดอลลาร์ตัวคูนทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 1 เท่าหรือต่ำกว่า 1 เท่าด้วยซ้ำ
“การแจกเงินนั้นต้องคิดให้ดี เพราะการแจกเงินโดยไม่รักษาวินัยทางการคลัง นั้นมีบทเรียนทั่วโลกมาแล้วว่าเกิดความเสี่ยงสูงได้ โดยการศึกษาพบว่าหากประเทศไม่รักษาฐานะการคลังให้ดี และหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นสูงในเวลาอันรวดเร็ว ประเด็นที่จะตามมาคือการที่อันดับเครดิตเรตติ้งจะถูกลด ซึ่งไม่เพียงแต่เครดิตเรตติ้งของประเทศแต่เป็นเครดิตเรตติ้งของบริษัทเอกชนลงมาด้วยซึ่งจะกระทบกับการระดมทุนและต้นทุนทางการเงินของเอกชนได้”