ห่วงทักษะแรงงานไทยก้าวไม่ทันโลก สภาพัฒน์ ชี้เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ 3 ล้านล้าน
"สภาพัฒน์" หนุนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ชี้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันเป็นเครื่องมือสำคัญ เผยรัฐเตรียมปรับกฎหมายให้รายได้จากภาษีตามเกณฑ์ OECD มาเข้ากองทุนฯเพิ่มขึ้นใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุน รับห่วงทักษะแรงงานได้ก้าวไม่ทันโลก กระทบเศรษฐกิจ 3 ล้านล้าน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าภาครัฐมีความพยายามมานานในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายถือว่าเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญเพื่อดึงเอาบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทยนอกจากสิทธิประโยชน์ต่างๆยังมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้กับกองทุนนี้จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการดึงการลงทุน
แหล่งเงินจากภาษีตามเกณฑ์ OECD
นอกจากนั้นตาม พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ออกแบบไว้ ให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สามารถกำหนดภาษีบางตัวที่จะดึงเข้ามากองทุนนี้โดยมาจากมาตรการภาษี Global Minimum Tax ตามมาตรฐานของประเทศ OECD ซึ่งก็จะทำให้ไทยมีเงินในกองทุนฯนี้ไว้ประกอบการเจรจาดึงดูดการลงทุน โดยการใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนฯนี้เพื่อดึงการลงทุนจะต้องมีการเจรจาแลกเปลี่ยน โดยการลงทุนที่เกิดขึ้นประเทศไทยก็จะต้องได้ผลประโยชน์ทั้งด้านการจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทำให้ห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความแข็งแรงมากขึ้นด้วย
ห่วงทักษะแรงงานต่ำฉุดเศรษฐกิจ 3 ล้านล้าน
อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่ สศช.ให้ความสำคัญคือการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยในการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1/2567 สศช.ระบุว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย ของธนาคารโลกร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีทักษะการรู้หนังสือและทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 64.7% และ 79.1% ตามลำดับสะท้อนว่ากลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ไม่สามารถทำงานด้านการอ่านและการใช้คอมพิวเตอร์ชั้นพื้นฐานได้ดี
โดยทักษะด้านดิจิทัลที่อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับข้อมูลของ We are social ที่พบว่า ทักษะด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง ทั้งนี้การขาดทักษะดังกล่าวอาจทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี จากผลิตภาพของแรงงานที่ไม่สูงนัก และการใช้นวัตกรรมที่น้อย
ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่นำกังวลโดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานที่มีสมรรถนะสูงในอนาคตลดน้อยลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไป และสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้