’ครม.‘ รับทราบความเห็น 10 กระทรวง - กมธ.สภาฯ เดินหน้าโครงการ ‘แลนด์บริดจ์‘
‘ครม.’ รับทราบความเห็น 10 กระทรวง - กมธ.สภาฯ ศึกษาโครงการ เดินหน้าโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ แนะใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นดึงการลงทุน
วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (4 มิถุนายน 2567) รับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร
โดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณารายงานดังกล่าว เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้งนิยามโครงการ รูปแบบโครงการ รูปแบบการลงทุน แนวทางการพัฒนาโครงการ เหตุผลที่มีโครงการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และโครงการแลนด์บริดจ์ในมิติต่างๆ และได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต สรุปสาระสำคัญข้อเสนอแนะ/ข้อสังเกตได้ 6 ด้านดังนี้
1.ข้อเสนอแนะด้านการศึกษา อาทิ ควรกำหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการดำเนินการให้ชัดเจน ก่อนจะนำไปสู่การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และการตราพระราชบัญญัติต่อไป
2.ข้อเสนอแนะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และเวนคืนที่ดิน เช่น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ และให้ข้อมูลในการดำเนินโครงการที่ชัดเจน และเป็นข้อมูลที่ประชาชนสามารถใช้ในการสนับสนุนโครงการได้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และลดความขัดแย้งในพื้นที่
3.ข้อเสนอแนะด้านการขับเคลื่อนโครงการ เช่น ต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ และกำกับดูแลการดำเนินโครงการ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมต่อไป
4.ข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมาย อาทิ ควรขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้ถอดบทเรียนจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่ามีอุปสรรคหรือไม่ และแนวทางแก้ไขอย่างไร
5.ข้อสังเกตเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมถึงควรจัดให้มีตัวแทนหน่วยงานที่ทราบข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน และ
6.ข้อสังเกตด้านเศรษฐกิจ เช่น ควรสรุปแนวทางการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดึงดูดนักลงทุน เป็นต้น
โดย ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลัก ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 10 หน่วยงานเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง และความเหมาะสมของข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป
เมื่ออังคารที่ผ่านมา ครม. รับทราบการศึกษาโครงการฯ อีกทั้ง รู้สึกยินดีที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมากจากกระแสการตอบรับหลังเดินสายโรดโชว์ มอบให้กระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกระทรวง/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป ซึ่งวานนี้เอง (6 มิถุนายน 2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้ออกมาย้ำความมั่นใจว่า โครงการแลนด์บริดจ์นี้ จะสร้างประโยชน์ต่อผู้ลงทุน และประเทศไทย ซึ่งบริษัทเอกชนที่เราชักชวน เช่นที่ เมืองดูไบ และเมืองปักกิ่ง ก็สนใจเป็นอย่างมาก ตอนนี้ กระบวนการโรดโชว์จบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การเสนอร่างกฎหมาย เป้าหมายคือ เปิดการประมูลหาผู้รับเหมาปลายปี 2568 เพื่อคิกออฟการก่อสร้างต่อไป
"โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่สร้างเงิน สร้างอาชีพ สร้างโอกาส ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เป็นความน่าชื่นใจของคนไทยที่ รัฐบาลไทยมีการทำงานกันอย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ โดยรัฐบาลชุดนี้มุ่งหน้าผลักดันโครงการนี้สู่ความสำเร็จอย่างเข้มแข็ง”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์