ถอดบทเรียน ‘ไทยสมายล์แอร์เวย์’ โมเดลธุรกิจไม่ชัด ขาดทุนสะสม 11 ปี ปิดตัวถาวร

ถอดบทเรียน ‘ไทยสมายล์แอร์เวย์’ โมเดลธุรกิจไม่ชัด ขาดทุนสะสม 11 ปี ปิดตัวถาวร

ถอดบทเรียน “ไทยสมายล์แอร์เวย์” จากความหวังแตกไลน์หน่วยธุรกิจใหม่ สร้างจุดแข็งแบรนด์สู้ศึกในตลาด สู่จุดจบ 11 ปี ขาดทุนต่อเนื่อง ก่อนปิดตำนานหยุดให้บริการถาวร

KEY

POINTS

  • “ไทยสมายล์แอร์เวย์” กับความหวังแตกไลน์หน่วยธุรกิจใหม่ สร้างจุดแข็งแบรนด์สู้ศึกในตลาด "ปิยะสวัสดิ์" หัวเรือผู้ผลักดัน เหตุการบินไทยเสียสัดส่วนการตลาดให้แก่สายการบินคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง
  • "ชัชชาติ" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มือชงเข้า ครม. เมื่อปี 2556 วางเป้าหมาย 5 ปีแรก ไทยสมายล์สร้างกำไรต่อเนื่อง ประเมินปี 2560 กวาดกำไรสุทธิสูงสุด 1,946 ล้านบาท 
  • สศช. แนะสายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ควรสร้างความแตกต่าง ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ทางการตลาด และควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย
  • 31 ธ.ค.2566 เที่ยวบิน WE268 เส้นทางหาดใหญ่ - กรุงเทพฯ เวลา 20.45 น. เที่ยวบินสุดท้ายปิดตำนานไทยสมายล์ หลังให้บริการ 11 ปี ขาดทุนต่อเนื่อง 

บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินภายใต้ชื่อ “ไทยสมายล์” แจ้งจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2556 ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2556 ในสมัยที่ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

การจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ ใช้ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท และการบินไทยถือหุ้น 100% ซึ่งสายการบินได้เริ่มทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2557 จากสนามบินสุวรรณภูมิ 10 เส้นทาง ภายใต้รหัสสายการบิน WE

และมีเที่ยวบินสุดท้ายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 เที่ยวบิน WE268 เส้นทางหาดใหญ่ - กรุงเทพฯ เวลา 20.45 น.

ปัจจุบันสายการบินไทยสมายล์ได้คืนโค้ดบิน WE ให้กับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) แล้วเสร็จ ส่งผลให้ไทยสมายล์สิ้นสุดการเป็นผู้บริหารสายการบิน

อย่างไรก็ดี หากย้อนที่มาของการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ เป้าประสงค์ของการบินไทยในยุคนั้น ถูกระบุไว้ในเอกสารเสนอขอ “อนุมัติโครงการลงทุนจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” ที่ลงนามโดย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยมีเนื้อหากล่าวถึง เนื่องจากธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทั้งการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ประกอบกับปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ สายการบินต่างๆ ในต่างประเทศ ได้ปรับกลยุทธ์โดยจัดตั้งสายการบินใหม่ในเครือ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม

ส่งผลทำให้การบินไทยเสียสัดส่วนการตลาดให้แก่สายการบินคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาและเพิ่มสัดส่วนการตลาด การบินไทยได้ปรับกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจองค์กร (Corporate Portfolio Strategy)

โดยกำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ของสายการบินและจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ขึ้น ดำเนินงานในลักษณะหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เพื่อให้บริการครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ (Segment)

เป้าหมายจะเน้นการบินในเส้นทางบินระยะสั้น ให้บริการแบบ Regional Service อย่างมีคุณภาพ (Quality) ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย (Trend) โดยอาศัยและเสริมความแข็งแกร่งให้สายการบินไทยด้วยฐานผู้โดยสารที่เดินทางแบบเชื่อมต่อเส้นทาง (Connecting  Traffic) ของสายการบินไทย

รวมทั้งฝูงบินเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ (Narrow-body Fleet) มีฐานปฏิบัติการบินหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีเป้าหมายเป็นสายการบินภูมิภาคชั้นนำของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ถอดบทเรียน ‘ไทยสมายล์แอร์เวย์’ โมเดลธุรกิจไม่ชัด ขาดทุนสะสม 11 ปี ปิดตัวถาวร

สำหรับกลยุทธ์ด้านธุรกิจการบิน การบินไทยต้องการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่สูญเสียไปในภูมิภาคเอเชียกลับคืนมา โดยกำหนดตำแหน่งทางธุรกิจของแบรนด์ไทยสมายล์ให้บริการเต็มรูปแบบในเส้นทางบินระยะใกล้และระยะปานกลาง และเส้นทางการบินภายในประเทศบางเส้นทางเช่นเดียวกับสายการบินไทย (เพียงแต่สายการบินไทยทำการบินในระยะไกลระหว่างทวีปด้วย)

ขณะเดียวกัน สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ที่จะจัดตั้งขึ้นใช้โครงสร้างต้นทุนและราคาบัตรโดยสารที่ต่ำกว่า และมุ่งเน้นให้บริการในเส้นทางบินพื้นที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก

รวมทั้งเตรียมการไว้สำหรับใช้เจาะตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วยเครื่องบิน Airbus A320-200 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบทั้งหมด เฉกเช่นสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่มีซิลด์แอร์ (Silk Air) คอยสนับสนุน

นอกจากนี้ยังประมาณการผลการดำเนินงาน และผลตอบแทนทางการเงินของสายการบินไทยสมายล์ ระยะ 5 ปีแรก แบ่งเป็น

ปี 2556 คาดการณ์กำไรสุทธิ 54 ล้านบาท

ปี 2557 คาดการณ์กำไรสุทธิ 1,304 ล้านบาท

ปี 2558 คาดการณ์กำไรสุทธิ 1,842 ล้านบาท

ปี 2559 คาดการณ์กำไรสุทธิ 1,920 ล้านบาท

ปี 2560 คาดการณ์กำไรสุทธิ 1,946 ล้านบาท

โดยท่ามกลางการผลักดันจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมัยที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เป็นเลขาธิการ มีความเห็นว่า เห็นควรให้มีการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ แต่อย่างไรก็ดี สายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ควรสร้างความแตกต่างในรูปแบบและคุณภาพบริการให้โดดเด่นและชัดเจน ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ทางการตลาด และการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

นอกจากนี้ให้พิจารณานำระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการให้บริการบนเครื่องบิน เพื่อให้ผู้ใช้บริการเห็นภาพลักษณ์ความแตกต่างในเรื่องคุณภาพการให้บริการและราคาที่คุ้มค่าของสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ที่เป็นสายการบินภูมิภาค กับสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Carriers) และสายการบินราคาประหยัด (Low Cost Carriers)

ทั้งนี้ การจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ท้ายที่สุดวันนี้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของการแตกไลน์ธุรกิจ แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุหลักของความล้มเหลว

ขณะที่ผลประกอบการตลอด 11 ปีที่สายการบินไทยสมายล์ดำเนินงานอยู่นั้น สะท้อนได้แล้วว่า “ไทยสมายล์แอร์เวย์” เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของ “การบินไทย” ที่วันนี้ต้องแบกรับผลขาดทุนสะสมที่ระบุไว้ในงบแสดงฐานะการเงินเฉพาะกิจการ ขาดทุนสะสมกว่า 20,929 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ที่ราว 9,676 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผลดำเนินงานสายการบินไทยสมายล์ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังพบว่าขาดทุนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 11 ปีนับตั้งแต่เปิดสายการบินเมื่อปี 2556 ดังนี้

ปี 2556 ขาดทุน 3.12 ล้านบาท

ปี 2557 ขาดทุน 577 ล้านบาท

ปี 2558 ขาดทุน 1,852 ล้านบาท

ปี 2559 ขาดทุน 2,081 ล้านบาท

ปี 2560 ขาดทุน 1,626 ล้านบาท

ปี 2561 ขาดทุน 2,602 ล้านบาท

ปี 2562 ขาดทุน 112 ล้านบาท

ปี 2563 ขาดทุน 3,266 ล้านบาท

ปี 2564 ขาดทุน 3,792 ล้านบาท

ปี 2565 ขาดทุน 4,248 ล้านบาท

ปี 2566 ขาดทุน 940 ล้านบาท