ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

การท่องเที่ยวขณะนี้เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกและการใช้จ่ายในประเทศอ่อนแอ

ล่าสุดรายงานดัชนีการพัฒนาธุรกิจเดินทางและท่องเที่ยวปี 2024 ชี้ว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศเรา มีช่องว่างมากในแง่ความยั่งยืนและกําลังตกชั้นเทียบกับประเทศอื่นๆ

ทำให้นโยบายท่องเที่ยวของเราจะต้องเปลี่ยน จากที่เน้นเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาเป็นเน้นความยั่งยืนของภาคท่องเที่ยว เพื่อผลระยะยาวต่อประเทศ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

สำหรับทั่วโลก ธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวปัจจุบันมีขนาดประมาณ 10% ของจีดีพีโลกและกําลังฟื้นตัวแม้ความเข้มเเข็งในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน

ความสำคัญของธุรกิจเดินทางและท่องเที่ยว ทําให้ทุกประเทศต้องการพัฒนาภาคท่องเที่ยวของตนให้เข้มแข็งและยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบน้อยแต่ให้ประโยชน์มากต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยว

ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จึงเป็นเป้าหมายของการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวในเกือบทุกประเทศเพื่อนําไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่มั่นคง มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อคนในประเทศ

ปีนี้ สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum จัดทําดัชนีการพัฒนาธุรกิจเดินทางและท่องเที่ยว (Travel&Tourism Development Index) เพื่อประเมินความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนในแต่ละประเทศ

พิจารณาทั้งด้านปัจจัยนําเข้าและนโยบาย ที่จะนําไปสู่การพัฒนาธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเข้มแข็ง โดยประเมินทั้งหมด 119 ประเทศ

ดัชนีวัดพัฒนาการไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนใน 5 มิติ แยกเป็น 17 กลุ่ม และใช้เครื่องชี้ 102 ตัว ห้ามิตินี้ได้แก่

1.ภาวะแวดล้อมที่สนับสนุน 

2.นโยบายการเดินทางและท่องเที่ยวของแต่ละประเทศและเงื่อนไขสนับสนุน

3.โครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ

4.ทรัพยากรการเดินทางและท่องเที่ยวที่ประเทศมี เช่น ความสวยงามของธรรมชาติ

5.มิติความยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสังคม และความยั่งยืนของอุปสงค์หรือจํานวนนักท่องเที่ยว

ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

ซึ่งผลการประเมินคือ

1.ประเทศท็อปเท็นหรือสิบอันดับแรกที่มีความพร้อมในการพัฒนาภาคการเดินทางและท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สเปน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับประเทศท็อปสามสิบจะอยู่ในยุโรป 19 ประเทศ เอเชียแปซิฟิค 7 ประเทศ ทวีปอเมริกา 3 ประเทศ และหนึ่งประเทศจากตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ สําหรับไทยอยู่อันดับที่ 47 ตามหลัง มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

2.เฉพาะประเทศไทย คะเเนนของเราในทั้งห้ามิติตํ่ากว่าคะแนนเฉลี่ยของ 19 ประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิค คือสอบไม่ผ่าน

ถ้าถือคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคเป็นเกณฑ์ และที่เป็นจุดอ่อนมากคือ โครงสร้างพื้นฐานและบริการที่ขาดการลงทุนและสิ่งที่มีอยู่มีผลิตภาพตํ่า 

ปัจจัยทรัพยากรด้านวัฒนธรรม ที่แม้เราจะมีวัฒนธรรมของประเทศที่เก่าแก่ แต่ก็ขาดการส่งเสริมดูแลและพัฒนา ผลกระทบต่อสังคมที่เกิดจากการท่องเที่ยว และ การเติบโตของการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน คือผันผวนสูง

ส่วนจุดแข็งก็เช่น นโยบายท่องเที่ยวที่เปิดกว้าง ความสะดวกของการเชื่อมต่อทางอากาศระหว่างประเทศและในประเทศ ธรรมชาติที่สวยงาม ระบบการติดต่อสื่อสารที่ดี และความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนนอกธุรกิจท่องเที่ยว

ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

สำหรับคนไทยจํานวนมากผลประเมินดังกล่าวคงทําให้ผิดหวัง เพราะเราตกอยู่ในความเชื่อว่าการท่องเที่ยวประเทศเราดี ใครๆ ก็อยากมาเมืองไทย เราติดอันดับต้นๆ อยู่เสมอของประเทศปลายทางที่นักท่องเที่ยวอยากมา

แต่ผลประเมินที่ออกมาก็เป็นข้อเท็จจริงที่เตือนให้ตระหนักว่า แม้เราจะภูมิใจในภาคการท่องเที่ยวของประเทศ แต่เราก็ยังอยู่อีกไกลจากความเป็นประเทศที่ภาคการท่องเที่ยวสง่างามและมีความยั่งยืน ที่ทุกคนในโลกอยากสัมผัส เช่น ญี่ปุ่น ที่คนไทยอยากไปและเมื่อไปแล้วก็ชอบ 

หรือ สหรัฐ สเปน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่พร้อม การบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งเป็นระบบ ไว้วางใจได้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสมีประสบการณ์ที่ดี เคารพความเป็นประเทศและวิถีชีวิตของคนในประเทศ

ตรงกันข้ามการท่องเที่ยวในประเทศเราโดยเฉพาะช่วงหลังโควิดกําลังไปอีกทาง จํานวนนักท่องเที่ยวที่มาไม่ได้เพิ่มมาก และส่วนใหญ่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวแบบเกรดเอ แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกําลังพัฒนาเหมือนเรา 

ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

คนเหล่านี้มาเพราะค่าใช้จ่ายประเทศเราถูก และก็ใช้จ่ายน้อย อยู่สั้นลง เป็นประเภทเดินทางครั้งแรกในชีวิตก็มาก ทําให้ผลต่อเศรษฐกิจมีจํากัดและกระจุกอยู่ในสี่ห้าจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก

ซึ่งถ้าแนวโน้มเป็นแบบนี้และไม่มีการแก้ไข การท่องเที่ยวในประเทศเราก็จะแย่ลงโดยเฉพาะในเชิงคุณภาพ

ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายท่องเที่ยวเน้นการเพิ่มจํานวนนักท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยมองแต่เรื่องเงินหรือการหารายได้เข้าประเทศ การเน้นเรื่องปริมาณทําให้การขยายตัวของการท่องเที่ยวสร้างต้นทุนสูงต่อประเทศและสังคม 

เช่น การเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล การทําลายความเป็นอยู่และวิถีชิวิตของคนในพื้นที่ เช่น ภูเก็ต และความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชาติที่หายไปหรือไม่จริงจัง

เพราะการแข่งขันหรือถูกทําให้เป็นสินค้าเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว รวมถึงพฤติกรรมของผู้ประกอบการ เช่น บริษัททัวร์หรือนักท่องเที่ยวเองที่อาจไม่เคารพหรือเอาเปรียบคนท้องถิ่น

ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

สิ่งเหล่านี้ลดความไว้วางใจต่อการท่องเที่ยวของประเทศ นำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของธุรกิจท่องเที่ยวในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ โฟกัสของนโยบายท่องเที่ยว ควรเปลี่ยนจากเรื่องการหารายได้ มาเป็นประโยชน์ที่จะมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเ พื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจท่องเที่ยว คือเน้นเรื่องอุปทานมากกว่าอุปสงค์

ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนทุกกลุ่มทุกวัยจากทั่วโลกอยากมาเยือน สะอาด มีความเป็นระเบียบ ปลอดภัย มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ มีธรรมชาติที่สวยงาม 

เหล่านี้เป็นจุดแข็งที่จะนำไปสู่ภาคการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เริ่มต้นเช่นที่ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ด้วยการรักษาและปกป้องความเป็นธรรมชาติของชายหาดและระบบนิเวศในทะเลซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ควบคุมจํานวนและพฤติกรรมนักท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการขยะ และประหยัดการใช้นํ้าเพื่อลดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวของประเทศเติบโตและยั่งยืนในระยะยาว.

ระวังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวประเทศไทยสะดุด

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]