‘เผ่าภูมิ’ จี้ ‘แบงก์ชาติ’ ลดดอกเบี้ย หวังนโยบายการเงินช่วยหนุน ‘ตลาดหุ้น’

‘เผ่าภูมิ’ จี้ ‘แบงก์ชาติ’ ลดดอกเบี้ย หวังนโยบายการเงินช่วยหนุน ‘ตลาดหุ้น’

“เผ่าภูมิ” จี้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย ชี้สัญญาณเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศหนุนให้ขยับ หวังนโยบายการเงินช่วยหนุนตลาดหุ้น

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand วันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการชั่งน้ำหนักของสมดุลระหว่างเม็ดเงินที่อยู่ในเงินฝากและเม็ดเงินลงทุน ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงก็ทำให้เงินฝากมีผลตอบแทนสูง เงินก็จะไหลเข้าบัญชีเงินฝาก 

ในขณะที่หากลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะทำให้เงินฝากมีผลตอบแทนที่น้อยลง เงินก็จะไหลออกไปสู่การลงทุนในตลาดหุ้นและภาคการลงทุนในเศรษฐกิจจริง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงจะทำให้ภาคธุรกิจเกิดการลงทุนใหม่ การจ้างงาน และการผลิต ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงหรือต่ำเกินไปนั้น คืออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้มีข้อตกลงร่วมกันให้กรอบอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3%

ขณะที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 อยู่ที่ 0.6-0.7% เท่านั้น นั่นหมายความว่าเงินเฟ้อหลุดกรอบล่างและอยู่ในระดับต่ำเกินไป ซึ่งสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันจะไม่ถึง 1% แต่เม็ดเงินกลับไม่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังร่วงลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี นั้น เป็นเพราะความสั่นคลอนและเสถียรภาพทางการเมืองที่ไปกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเปราะบาง จากงบประมาณรายจ่ายภาครัฐที่ล่าช้าไป 6-7 เดือน ซึ่งทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ซึ่งเมื่องบประมาณอนุมัติแล้วภาครัฐก็พยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ซึ่งนอกเหนือจากงบประมาณภาครัฐแล้วเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจก็มาจากสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งอยากสะท้อนไปยัง ธปท. ด้วยว่าให้ลดความเข้มงวดและระมัดระวังเพื่อให้สินเชื่อเข้าสู่ระบบได้มากที่สุด

“แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังจะต้องทำหน้าที่ผลักดันให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐให้เข้าสู่ระบบให้ได้”

ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการกระจายการเข้าถึงสินเชื่อให้กับกลุ่มต่างๆ ได้เร็วที่สุดนั้น เป็น 2 ปัจจัยที่มีความสำคัญและควรผลักดันให้เดินหน้าไปพร้อมกัน เพราะหากว่าต้นทุนการเงินต่ำลงแต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเท่าเดิมก็ไม่มีประโยชน์ หรือจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายแต่มีต้นทุนสูง ก็ไม่ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ 

อย่างไรก็ตามหากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ก็จะเป็นภาระของภาคการคลังที่จะทำงานหนัก ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำอย่างเต็มที่ทั้งการผลักดันเงินงบประมาณลงสู่ระบบ และออกมาตรการการคลังที่ผลักดันทางเศรษฐกิจ

“ซึ่งคงจะง่ายขึ้นเยอะหากมาตรการการเงินไปในทิศทางเดียวกันกับมาตรการการคลัง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ สัญญาณจากธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) อาจลดอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ก็จะเป็นอีกมิติหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการขยับเรื่องอัตราดอกเบี้ย