กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วย SMEs ไทย เข้าถึงเงินทุน

กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วย SMEs ไทย เข้าถึงเงินทุน

แบงก์ชาติเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs ไทยมาโดยตลอดนะคะ ด้วย SMEs มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงานสูงเกือบสามในสี่ของการจ้างงานรวม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดงานเสวนาเรื่อง “กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน” แบงก์ชาติตระหนักว่า SMEs ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข

ตามที่คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวไว้ในงานฯ และ คุณสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ได้สรุปผลการศึกษาด้านปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และบทบาทของกลไกค้ำประกันเครดิต

ในงานเสวนายังมีการแลกเปลี่ยนความเห็นโดย คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช (ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย) คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร (กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.) คุณชัยยศ ตันพิสุทธิ์ (ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย) คุณสมชัย จิตสุชน (ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI) และผู้ดำเนินการเสวนาคุณณชา อนันต์โชติกุล (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ KKP Research)

ผลการศึกษาและความคิดเห็นจากงานเสวนาฯ ช่วยให้เข้าใจปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และทุกภาคส่วนร่วมกันหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตของไทย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs

ทำไม SMEs จึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก 

1.SMEs ส่วนใหญ่มีทุนและความสามารถในการแข่งขันจำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน 

2.ไม่มีข้อมูลประวัติทางการเงินเพียงพอ จึงประเมินความเสี่ยงยาก และอาจถูกเรียกหลักประกัน 

3.SMEs บางส่วน ไม่มีหลักประกันที่จะยื่น ทำให้ขาดโอกาสในการรับเครดิต

กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วย SMEs ไทย เข้าถึงเงินทุน

ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs มีอะไรบ้าง 

1) การพัฒนาบริการทางการเงินที่เหมาะแก่ SMEs รายย่อย เช่น นาโนไฟแนนซ์ พิโคไฟแนนซ์ และ Digital p-loan เพื่อตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อไม่มาก 

2. การสนับสนุนสภาพคล่องแก่ SMEs ในช่วงวิกฤติ เช่น สินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อผ่าน SFIs ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มและเป็นมาตรการชั่วคราว เพราะต้องใช้เงินงบประมาณภาครัฐและใช้เวลาในการผ่านกฎหมายเฉพาะ 

3. การค้ำประกันโดย บสย. คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ (Portfolio Guarantee Scheme - PGS) แต่ กลไกค้ำประกันในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด 

- ขอบเขตการค้ำประกันที่จำกัดโดยครอบคลุมเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินและบริษัทลูกเท่านั้น

- ข้อมูลและเครื่องมือไม่เพียงพอทำให้การประเมินความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีค้ำประกันแบบกลุ่ม (portfolio guarantee) ที่คิดค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้เท่ากันทุกราย ทำให้ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่าความเสี่ยงของตนเอง

- การค้ำประกันขาดความยืดหยุ่น ในการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทาง/ยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติ เห็นได้จากในช่วงโควิด-19 ที่ต้องออกพระราชกำหนดเพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ SMEs ในการช่วยเหลือเพิ่มเติม

การพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิต เพื่อเพิ่มแต้มต่อแก่ SMEs ควรเป็นอย่างไร ตัวอย่างกลไกค้ำประกันเครดิตที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน มีลักษณะสำคัญดังนี้

- ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้ยืม หรือรูปแบบการกู้ยืมอยู่ที่เฉพาะสินเชื่อทำให้สามารถสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนธุรกิจตามเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

- มีข้อมูลและแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ (risk-based pricing)

- มีความยืดหยุ่นสามารถใช้เป็นกลไก/เครื่องมือเชิงนโยบายทั้งในภาวะปกติและช่วงวิกฤติ

- มีเงินทุน (funding) ที่มีเสถียรภาพ มั่นคงที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละภาคส่วน อย่างเกาหลีใต้ เงินสมทบจะมาจากทั้งรัฐบาล สถาบันการเงินและภาคธุรกิจอื่น ตามความสมัครใจ ทำให้ต้องร่วมกันประเมินและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

- ให้การสนับสนุน SMEs มากกว่าเพียงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีบริการครบวงจรทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และการบริหารจัดการเงิน เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของ SMEs

กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วย SMEs ไทย เข้าถึงเงินทุน

ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การค้ำประกันปัจจุบันที่เป็นแบบ “เหมาเข่ง” (portfolio guarantee) ยังไม่ตอบโจทย์การเข้าถึงเงินทุนของ SMEs ได้เต็มที่ จึงควรออกแบบกลไกที่เอื้อต่อการประเมินความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายได้

สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ ฐานข้อมูล ที่ไม่จำกัดเฉพาะข้อมูลจากสถาบันการเงิน แต่รวมถึงแหล่งอื่น โดย บสย. เห็นว่าการพัฒนา Digital payment และ Open data ของแบงก์ชาติ มีส่วนช่วยสร้าง digital footprint และบางส่วนมองว่า ภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจเอื้อให้ SMEs ที่อยู่นอกระบบ เช่น ภาษี กลับเข้าสู่ระบบได้ และหน่วยงานควรแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเหมาะสม 

อีกทั้งควรปรับหลักเกณฑ์ กฎหมายทั้ง ease of doing business และ ขยายขอบเขตการค้ำประกัน ทั้งประเภทและความหลากหลายของแหล่งเงินไม่จำกัดเพียงสินเชื่อสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือ การให้ความรู้แก่ SMEs เพื่อเพิ่มศักยภาพและแข่งขันได้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้คือ สาระสำคัญจากงานเสวนา ซึ่งแบงก์ชาติไม่หยุดนิ่งในการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงภูมิภาคต่อไปด้วย และจะนำข้อเสนอแนะมาประกอบการพิจารณาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และครอบคลุมขึ้นต่อไป

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด