กางสัมปทาน 'ดอนเมืองโทล์ลเวย์' เบื้องหลังปรับค่าผ่านทางสูงสุด 170 บาท
เปิดสัญญาสัมปทาน “ดอนเมืองโทล์ลเวย์” จากจุดเริ่มต้นลงนามในปี 2532 สู่การบริหารโครงข่ายทางยกระดับ 21 กิโลเมตร บนเพดานราคาจ่อปรับสิ้นปีสูงสุดถึง 170 บาท
KEY
POINTS
- เปิดสัญญาสัมปทาน "ดอนเมืองโทล์ลเวย์" 35 ปีจากจุดเริ่มต้นลงนามสัญญาในปี 2532 ขยายสัญญาสัมปทาน 3 ครั้ง
- โครงข่ายทางยกระดับ 21 กิโลเมตร ปรับราคาค่าผ่านทางทุก 5 ปี ดันเพดานราคาจ่อปรับสิ้นปีนี้สูงสุดถึง 170 บาท
- "สุริยะ" สายตรงถึง "สมบัติ พานิชชีวะ" ประธานดอนเมืองโทล์ลเวย์ ยื่นข้อเสนอขยายสัมปทาน แลกปรับโครงสร้างราคา
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทล์ลเวย์ ออกประกาศและประชาสัมพันธ์ เรื่องการปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ในวันที่ 22 ธ.ค. 2567 เวลา 00:01 น. บริษัทฯ จะปรับอัตราค่าผ่านทางที่คู่สัญญาสัมปทานกำหนดตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2550 สำหรับรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค.2567 ถึงวันที่ 21 ธ.ค. 2572
โดยช่วงดินแดง - ดอนเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลง 10 บาท (ค่าเฉลี่ย 2 บาทต่อปี) และช่วงดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน จะมีการเปลี่ยนแปลง 5 บาท (ค่าเฉลี่ย 1 บาทต่อปี) จากอัตราค่าผ่านทางในปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราค่าผ่านทางจะเริ่มต้นสำหรับรถ 4 ล้อประเภทที่ 1 อยู่ที่ 40 บาท และสูงสุด 130 บาท ส่วนรถมากกว่า 4 ล้อ ประเภทที่ 2 จะเริ่มต้น 50 บาท และสูงสุด 170 บาท
อย่างไรก็ดี จากประกาศดังกล่าวเกิดกระแสวิจารณ์ในสังคมอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าผ่านทางของทางด่วนโทล์ลเวย์ มีราคาสูงสุดถึง 110 บาทแล้ว อีกทั้งยังมีหลายฝ่ายต้องการให้ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคมนำโครงการดังกล่าวกลับมาบริหารเอง เนื่องจากสัญญาสัมปทานปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2577 และเชื่อว่าหากภาครัฐเข้ามาบริหารโครงการ จะทำให้อัตราค่าผ่านทางปรับลดลง
ขณะที่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบเรื่องดังกล่าวและเผยว่า ตนได้โทรศัพท์สายตรงไปยัง นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เพื่อเจรจาให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจากประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นของการเจรจาโดยทางเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ
แต่อย่างไรก็ดี มีเงื่อนไขขอให้ภาครัฐพิจารณาชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ บีอีเอ็ม ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับการปรับโครงสร้างอัตราค่าผ่านทางลงเหลือ 50 บาทตลอดสาย ตนจึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) คู่สัญญาโครงการทางด่วนโทล์ลเวย์ ศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบกรณีปรับลดค่าผ่านทาง ต้องคงอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมไม่เป็นภาระประชาชนมากเกินไป
อีกทั้งหากปรับลดค่าผ่านทางลงจะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอย่างไร และการดำเนินงานเหล่านี้จะจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการทางด่วนโทล์ลเวย์เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยหากปริมาณการใช้ทางด่วนปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันปริมาณ 4 – 5 หมื่นคันต่อวัน เป็น 8 หมื่นคันต่อวัน ทางด่วนจะมีขีดความสามารถรองรับเพียงพอหรือไม่ โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน 2 – 3 เดือนนี้
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางของดอนเมืองโทล์ลเวย์ เป็นไปตามสัญญาสัมปทานกำหนด โดยหากไม่มีการเจรจาชะลอปรับลดค่าผ่านทาง และปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมด ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานอีก 2 ครั้ง โดยมีกำหนดปรับในเดือน ธ.ค.2567 และ ธ.ค. 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนดการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี
ขณะที่สัญญาสัมปทานระหว่าง ทล. และ “ทางยกระดับดอนเมือง” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง เป็นที่มาของอัตราค่าผ่านทางที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน บนโครงข่ายทางด่วนระยะทาง 21 กิโลเมตร
- ปี 2532 ลงนามสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางยกระดับ
บริษัททางยกระดับดอนเมือง ได้ลงนามสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางยกระดับจาก ทล. เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2532 โดยได้เริ่มก่อสร้างทางยกระดับตั้งแต่ กม. 5+700 บริเวณดินแดง ถึง กม. 21+100 บริเวณดอนเมือง ระยะทางประมาณ 15.4 กิโลเมตร ซึ่งเรียกว่า “โครงการส่วนเริ่มต้น”
- ปี 2538 ลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 1/2538
บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 1/2538 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2538 และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,622 ล้านบาท ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ
- ปี 2539 ก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือและลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 2/2539
เนื่องจากรัฐบาลมีความประสงค์ให้บริษัทฯ ขยายเส้นทางออกไปทางทิศเหนือตั้งแต่ กม. 21+100 บริเวณดอนเมือง ถึง กม. 26+700 บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ต่อจาก “โครงการส่วนเริ่มต้น” อีกประมาณ 5.6 กิโลเมตร โดยเรียกว่า “โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ” เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดบริเวณหน้าสนามบินดอนเมือง
ซึ่งรัฐบาลได้จัดหาแหล่งเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนระยะยาวจำนวน 8,500 ล้านบาท เพื่อมาใช้คืนหนี้ของเจ้าหนี้เดิม และปรับปรุงอัตราค่าผ่านทาง ขยายอายุสัมปทานจากปี 2557 ไปถึงปี 2564 และกระทรวงการคลังเข้ามาลงทุนในบริษัทฯ จำนวน 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถขยายโครงการดังกล่าวได้และมีการลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 2/2539 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2539
- ปี 2550 ลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 3/2550
หลังจากเปิดให้บริการทางหลวงสัมปทานทั้ง 2 ส่วน บริษัทฯ ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานจากทางภาครัฐ ทำให้มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ และมีผลขาดทุนสะสมสูงสุดในปี 2549 จำนวน 5,601 ล้านบาท จนทำให้บริษัทฯ ได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้กับกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินและกลุ่มเจ้าหนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างหลายครั้งในช่วงระหว่างปี 2541-2551
รวมถึงเจรจากับภาครัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการทางศาล จนในที่สุดสามารถบรรลุข้อตกลงและได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานฉบับ 3/2550 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2550 โดยมีเงื่อนไขที่ได้รับการปรับปรุงที่สำคัญ ได้แก่ การปรับอัตราราคาค่าผ่านทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้าตามสัญญาสัมปทานโดยไม่ต้องขออนุมัติ และได้รับการขยายอายุสัมปทานจนไปสิ้นสุดวันที่ 11 ก.ย. 2577