อย่าเพิ่งหมดหวังกับตลาดหุ้น และเศรษฐกิจ

อย่าเพิ่งหมดหวังกับตลาดหุ้น และเศรษฐกิจ

อาทิตย์ที่แล้ว ตลาดหุ้นตกมาก และการเมืองประเทศอึมครึม นักลงทุนหลายคนบอกผมว่า ไม่อยากลงทุนแล้วประเทศไทย เพราะดูไม่มีอนาคต ไม่มีนโยบายที่สร้างความมั่นใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ซํ้าการเมืองก็วุ่นไม่จบ

จนบางคนสรุปว่า ประชาธิปไตยเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมเข้าใจความรู้สึกของนักลงทุนดีแต่ไม่อยากให้หมดหวัง เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งหลายด้าน เพียงแต่ถูกกดทับไว้ไม่แสดงออกมาด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

ถ้าความขัดแย้งจบลงหรือการเมืองดีขึ้น นโยบายดีขึ้น พลังทางเศรษฐกิจที่ประเทศมีก็จะถูกปลดปล่อยออกมา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น นี่คือ ประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เรื่องแรกที่ต้องสร้างความเข้าใจคือ ประชาธิปไตยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง

ในระบบทุนนิยม ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ ภาคเอกชน และเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีก็ต่อเมื่อภาคเอกชนมั่นใจในความเข้มแข็งของสถาบันหลัก (Institutions) ที่จําเป็นต่อการเติบโตของธุรกิจ และระบบทุนนิยม

อันดับแรกคือ สถาบันยุติธรรมหรือระบบยุติธรรมของประเทศ ที่จะปกป้องดูแลสิทธิ และผลประโยชน์ที่ได้จากการทําธุรกิจ (Property rights) และสิทธิของประชาชน ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ตรงไปตรงมา เป็นธรรม ทำให้ภาคธุรกิจเชื่อมั่น และพึ่งพาได้ ซึ่งรวมถึงการทำหน้าที่ของระบบราชการ

สอง สถาบันการเงิน และตลาดทุนของประเทศที่ประชาชน และภาคธุรกิจให้ความไว้วางใจ ทําหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

สาม สถาบันสื่อ ที่เป็นกลาง ประชาชนไว้ใจ นำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงให้ประชาชนทราบ ให้ภาคธุรกิจมีข้อมูลในการตัดสินใจ และเป็นหูเป็นตาให้สังคม

 

 

 

นี่คือ สามสถาบันที่จําเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยม และประชาธิปไตย เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองของประเทศ ประชาธิปไตยก็เข้มแข็ง นำไปสู่การเมืองที่ดี นโยบายที่ดี สนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นนี้คือ พลวัตของเศรษฐกิจ และการเมือง

สำหรับเศรษฐกิจ และการเมืองประเทศเรา ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมานานกว่าสิบปีเหมือนจับเศรษฐกิจของประเทศเป็นเชลยนานเป็นสิบปีเช่นกันคือ ไปไหนไม่ได้ เพราะความขัดแย้งทำให้ความไม่แน่นอนมีมาก กระทบการตัดสินใจของนักธุรกิจ กระทบการลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ในแง่ นโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายความขัดแย้งเมื่อมีอำนาจก็มุ่งเรื่องระยะสั้น รวมถึงเพื่อหาเสียงหรือเอาใจเครือข่ายทางการเมืองเพื่อความอยู่รอดมากกว่าที่จะแก้ปัญหาที่ประเทศมีหรือพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทําให้ประเทศเสียโอกาส เศรษฐกิจโตต่ำไม่ไปไหน เป็นต้นทุนที่แพงมากต่อคนทั้งประเทศ นี่คือ สิ่งที่ต้องตระหนัก

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่หมดหวัง การเมืองก็เหมือนทุกเรื่องที่เมื่อมีเริ่มต้นก็ต้องมีจบ และเมื่อจบ พลังทางเศรษฐกิจที่ประเทศมีก็จะถูกปลดปล่อยออกมา เหมือนดอกไม้ที่จะบานสะพรั่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยการเมืองที่ดี ด้วยนโยบายที่ดี

ในสายตานักลงทุนต่างประเทศ ไทยเป็นประเทศที่มีโอกาส และมีความเข้มแข็งหลายด้านที่จะเป็นพื้นฐานให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างดีในอนาคต

หนึ่ง ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศที่ไม่มีใครแย่งได้ ทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่น่าลงทุน โดยเฉพาะในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ และการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนในภูมิภาคเอเชียขณะนี้

ตัวอย่างเช่น การลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเพื่อสร้างเครือข่ายด้านไอทีในเอเชียเช่น ดาตาเซนเตอร์ หรือ ในด้านการผลิต ที่ไทยจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในแง่การเมืองระหว่างประเทศที่จะรองรับการย้ายห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน

สิ่งเหล่านี้กําลังเกิดขึ้น และประเทศไทยจะได้ประโยชน์มหาศาล ถ้านโยบายต่างประเทศของเราถูกต้อง มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับ และมีการเตรียมบุคลากร และแรงงานที่มีทักษะ นี่คือ โอกาส

สอง สถาบันหลักที่จําเป็นต่อการเติบโตของธุรกิจในสายตานักลงทุนของเรามีอยู่ครบ และน่าเชื่อถือ แม้บางส่วนจะถูกกระทบบ้างจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ที่หนักสุดคือ สถาบันสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่แบ่งแยกชัดเจนตามการเมือง และเป็นกลไกให้ความขัดแย้งขยายไปสู่ความแตกแยกในสังคม

สำหรับสถาบันยุติธรรมยังไปได้แม้บางส่วนจะเริ่มถูกจับตาโดยนักลงทุน สำหรับสถาบันการเงิน และตลาดทุนของประเทศ ความเชื่อมั่นดี นี่คือ สถาบันที่นักลงทุนให้ความสำคัญ และเราต้องช่วยกันรักษาความเข้มแข็ง และความน่าเชื่อถือของสถาบันเหล่านี้ไว้

สาม คือ ความสามารถของภาคธุรกิจเราเองในการสร้างธุรกิจให้เติบโต ในสาขาธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่สินค้าดั้งเดิมของประเทศ และสามารถแข่งขันได้ในต่างประเทศ เป็นตัวอย่างความสามารถของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สร้างธุรกิจสร้างฐานะของตนได้ท่ามกลางการแข่งขันในเศรษฐกิจโลก และข้อจำกัดจากการเมืองของประเทศ

คือ ถ้าใครดูรายชื่อมหาเศรษฐีไทยล่าสุดจากข้อมูลในนิตยสาร Forbes จะเห็นว่ามีชื่อใหม่ๆ มากมาย และความรํ่ารวยของบุคคลเหล่านี้ก็มาจากธุรกิจที่หลากหลาย อีกข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องความสามารถนี้ก็คือ การปรับขึ้นของอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก ที่ล่าสุดเพิ่มขึ้นห้าอันดับ เป็นที่สองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ เพราะความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

นี่คือ ความเข้มแข็งที่ประเทศเรามี รอเวลาที่จะพุ่งทะยานเมื่อการเมืองดีขึ้น นโยบายดีขึ้น และระหว่างรอ เราต้องช่วยการรักษาความเข้มแข็งที่ประเทศมีเอาไว้ อย่าให้อ่อนแอตามการเมือง

สนับสนุนประชาชนที่มีความรู้มีความตั้งใจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองของประเทศ และเตรียมคิดสิ่งที่ควรต้องทําสิ่งที่ควรต้องแก้เพื่อพลิกฟื้นประเทศเมื่อการเมืองดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนรวมทั้งนักลงทุนสามารถชี้แนะได้

อย่าเพิ่งหมดหวังกับตลาดหุ้น และเศรษฐกิจ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์