กัญชาในมิติเศรษฐกิจ คุ้มค่าจริงหรือไม่?
นับตั้งแต่ “กัญชา” ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดช่วงกลางปี 2565 และถูกพูดถึงอย่างมากเกี่ยวกับประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการแพทย์ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายและกฎระเบียบกำกับดูแลที่ชัดเจน จึงส่งผลกระทบต่อสังคมโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน
กระทั่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้าน
ก่อนหน้านี้คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอได้ศึกษา “การประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง”
บทความฉบับนี้จึงจะระบุในมิติทางด้านเศรษฐกิจ ภายหลังจากเกิดคำถามที่ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่กัญชาสร้างขึ้นคุ้มค่าจริงหรือไม่? และในระยะยาว กัญชาในแง่มุมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร?
ทางเศรษฐศาสตร์ ห่วงโซ่มูลค่าของกัญชาเริ่มที่การเพาะปลูก ตั้งแต่การเตรียมโรงเรือน ติดตั้งระบบและควบคุมคุณภาพ การรดน้ำใส่ปุ๋ย การคัดต้นและเก็บเกี่ยวจนได้กัญชาต้นที่สมบูรณ์ เมื่อผู้ปลูกได้ผลผลิตแล้ว ธุรกิจจะเข้ามารับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายต่อไป
คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอสำรวจตลาดพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ช่อดอก 2.อุปกรณ์เสพ 3.ต้นกัญชาที่ปลูกใช้บริโภคในครัวเรือน 4.ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทางเลือก 5.ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปภายใต้ อย. เช่น เครื่องปรุง อาหารสำเร็จรูปและ 6.กลุ่มอาหารที่ไม่มี อย. เช่น เยลลี่ บราวนี่ คุกกี้
ร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์กัญชากระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กระบี่ เป็นต้น
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาอยู่ในกลุ่มของ ช่อดอก อุปกรณ์เสพ และกลุ่มอาหารและขนม เช่น เยลลี่ บราวนี่ คุกกี้ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นลูกค้าชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงและเจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
ส่วนวิสาหกิจผู้เพาะปลูก พบว่า วิสาหกิจชุมชนลงทุนปลูกตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็น
1.วิสาหกิจผู้เพาะปลูกกรณีขายช่อดอก
2.วิสาหกิจผู้เพาะปลูกกรณีผลิต ผลิตภัณฑ์กัญชา ได้แก่ ช่อดอกนำไปผลิตเป็นน้ำมัน THC และน้ำมันกัญชาตำรับต่างๆ ใบกัญชานำไปทำยาศุขไสยาศน์หรือยาแก้ลมแก้เส้น และรากกัญชานำไปทำยาหม่องหรือน้ำมันไพล
ขณะที่กลุ่มธุรกิจกัญชาที่เข้ามาในตลาดหลังจากปลดล็อกกัญชา ยอดขายในช่วงแรกค่อนข้างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มธุรกิจกัญชาขยายตัว มีผู้ค้ารายใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบจากราคาขายที่ลดลง
จากข้อมูลของธุรกิจที่จดทะเบียนซึ่งมีรายได้จากกัญชาเป็นหลัก พบว่า ธุรกิจมีรายได้รวมจากกัญชา 39 ล้านบาทและขาดทุนรวม 194 ล้านบาท โดยมีธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้เพียงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของธุรกิจที่จดทะเบียนและมีรายได้มาจากกัญชาเป็นหลัก
การวิเคราะห์มูลค่าเศรษฐกิจทางตรง พบว่า กัญชานิยมนำไปใช้เพื่อการบริโภคส่วนของช่อดอกและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยประมาณการจากการนำปริมาณการปลูกที่มีการลงทะเบียน คำนวณออกมาเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์ตามราคาตลาด
พบว่าหากนำกัญชาที่ลงทะเบียนปลูกในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” เข้ามาขายในระบบตลาดเพียงร้อยละ 10 จะสร้างมูลค่าตลาดกัญชาถึง 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ร้านค้านำมาวางขาย ได้แก่ Grinder, Pipe, Rolling paper, Bonk และขนมที่มีส่วนผสมกัญชาจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกประมาณ 500 ล้านบาท
การวิเคราะห์มูลค่าเศรษฐกิจทางอ้อม พบว่า มีค่าใช้จ่ายในการปลูกกัญชา ตั้งแต่การลงทุนโรงเรือน ระบบควบคุม ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าไฟฟ้า ปุ๋ยและดิน แบ่งเป็น
(1) ด้านการลงทุนเพื่อปลูกกัญชา ซึ่งการปลูกกัญชา 1 ต้น ต้องลงทุนรวม 2,000 บาท
(2) ด้านรายจ่ายระหว่างการเพาะปลูก พบว่า ปลูกกัญชา 1 ต้น มีค่าใช้จ่าย 1,000 บาท จากค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าได้อีก 3.5 พันล้านบาท
ส่วนในระยะยาวนั้นการปลูกกัญชาตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยจะช่วยสร้างเศรษฐกิจต้นน้ำหมุนเวียนต่อไปยังเศรษฐกิจสาขาอื่น ๆ ได้อีกเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หรือ 2.88 เท่าจากค่าใช้จ่ายในการปลูกกัญชา เกิดการจ้างงานในสาขาการผลิตต่าง ๆ ได้กว่า 8,300 คนและสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีก 303 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการปลดล็อกกัญชาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จำนวนไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบเกิดขึ้น ดังที่ในงานวิจัยทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาในส่วนผลกระทบด้านสุขภาพ พบว่า มีผู้ใช้หรือลองใช้กัญชาเพื่อนันทนาการเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเทียบกับผู้ที่ใช้กัญชาตามแพทย์สั่ง
และการใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสพติดกัญชา และอาจกระตุ้นให้เกิดโรคจิตเภทโดยเฉพาะกับเยาวชนแล้ว กัญชายังเป็นพืชที่ดูดโลหะหนักจากดินเข้ามาได้มากกว่าพืชทั่วไปมาก
ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีแนวทางเพื่อลดผลกระทบและยังได้ประโยชน์สุทธิที่ดีที่สุด ซึ่งคำตอบนี้อยู่ที่ การออกกฎหมายและกฎระเบียบให้ชัดเจน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “แผนงานวิจัยการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ เรื่องกัญชา สกสว.และ วช.