'ครม.' ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ก่อหนี้ใหม่ 2.75 แสนล้าน หนี้สาธารณะแตะ 65%

'ครม.' ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ก่อหนี้ใหม่ 2.75 แสนล้าน หนี้สาธารณะแตะ 65%

ครม.ไฟเขียวแผนปรับปรุงการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 ปีงบ 67 ให้รัฐบาลก่อหนี้ใหม่อีก 2.75 แสนล้าน โดยเป็นแผนการก่อหนี้เพื่อให้รัฐบาลใช้โดยตรง 2.69 แสนล้าน และให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ลดหนี้ต่างประเทศลง 2.6 หมื่นล้าน

นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ ให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 ซึ่งมีการเปลี่ยนจากการอนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ครั้งที่ 1 ที่ ครม.อนุมัติไปเมื่อวันที่ 13 ก.พ.67

ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการปรับปรุงหนี้สาธารณะแล้วระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 65.05% ต่อจีดีพี จากกรอบบริหารหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี

ประกอบไปด้วยสาระสำคัญดังนี้

1.แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท จากเดิม 754,710 ล้านบาท รวมเป็น 1,030,580.71 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ในครั้งนี้แบ่งเป็นการก่อหนี้ของรัฐบาลที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรงเพิ่มขึ้น 2.69 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลที่รัฐบาลกู้ และมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 3.4 พันล้านบาท เนื่องจากมีการปรับปรุงวงเงินการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจที่กู้เงินเพิ่มขึ้น (จากแหล่งเงินในประเทศ) อีกประมาณ 3,470 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนารัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง เช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

 

 

 

2.แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 33,420.32 ล้านบาท จากเดิม 2,008,893.74 ล้านบาท เป็น 2,042,314.06 ล้านบาท จากเดิม 2,008,893.74 ล้านบาท รวมเป็น 2,024,314.06 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนการบริหารหนี้ในประเทศ เพิ่มขึ้นประมาณ 6.674 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ที่รัฐบาลครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1.674 หมื่นล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ที่รัฐบาลครบกำหนดในปี 2568 – 2571 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนการบริหารหนี้เดิมที่เป็นหนี้ต่างประเทศ ลดลงประมาณ 2.601 หมื่นล้านบาท

และ 3.แผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มสุทธิ 54,555.17 ล้านบาท จากเดิม 399,613.70 ล้านบาท เป็น 454,168.87 ล้านบาท โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.455 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการชำระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 2.92 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ เพิ่มขึ้นประมาณ 2.53 หมื่นล้านบาท เช่น การชำระหนี้ และดอกเบี้ยของการประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ขอปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.มอบหมายสำนักงบประมาณ รับข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณในส่วนของต้นเงิน และดอกเบี้ยของหนี้รัฐบาล และหนี้รัฐวิสาหกิจให้เพียงพอ และสอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาลไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มา และการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงิน และให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกัน และการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสม และจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่าในประเด็นการตั้งงบประมาณการใช้หนี้เงินต้นกระทรวงการคลังได้ตอบคำถาม ครม.ว่าการจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้เงินต้นปัจจุบันอยู่ที่ 2.5 – 4% ซึ่งทั้งนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลังได้ยืนยันถึงอัตราส่วนนี้ขณะที่นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่าอาจอยู่ที่ 3% หรือต่ำกว่าก็ได้

นอกจากนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ให้ความเห็นในส่วนของการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 2 ว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต

อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นตัวเร่งให้จำนวนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ การจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งได้บรรจุรายการวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสัดส่วนต่อจีดีพี จำนวน 1.12 แสนล้านบาท ไว้ด้วย และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งมีการกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง จำนวน 865,700 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญและเพื่อป้องกันการเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งให้ดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

2.พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบสมดุลให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยลดการจัดสรรเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในภาพรวม รวมทั้งให้ดำเนินการพิจารณาจัดสรรงบชำระหนี้ต้นเงินกู้ของหนี้รัฐบาล และหนี้รัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นอกจากนี้ ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการจัดสรรเงินกู้ให้แก่หน่วยงานของรัฐในระยะต่อไป เห็นควรให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติเฉพาะโครงการลงทุนที่จำเป็น และมีศักยภาพ สามารถก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตเป็นหลัก รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานเจ้าของโครงการลงทุนต่างๆ พิจารณาใช้แหล่งเงินอื่นนอกจากแหล่งเงินกู้ในการดำเนินโครงการในอนาคต เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เป็นต้น

3. จัดลำดับความสำคัญ และพิจารณาความเหมาะสมในการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับบริบท และสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น พิจารณาความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ที่เป็นค่าเงินสกุลเยนให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินเยนอ่อนลงมาก ทำให้ต้นทุนในการชำระหนี้ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เป็นต้น

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์