จดหมายเปิดผนึกถึง "ว่าที่ผู้นำ" ประเทศไทย

เรียน ท่านว่าที่ผู้นำประเทศ ไม่ว่าท่านจะคือใคร จะเป็นสุภาพสตรีหรือสุภาพบุรุษ และมาจากพรรคใด แต่ท่านคือความหวังของเศรษฐกิจและคนไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตต่ำ รายได้ต่อหัวที่ไม่ขยายตัวมา 3-4 ปี ความสามารถแข่งขันที่ลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับหนี้ที่พอกพูนขึ้น

ในฐานะที่ท่านกำลังจะเป็นผู้นำรัฐบาล สิ่งที่ท่านทำได้คือนโยบายการคลัง งบประมาณปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภาอยู่นี้ ขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.2% GDP และหากพิจารณาค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง จะพบว่าขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณ 1% GDP ในปี 2008 มาอยู่ที่ 4% GDP ในปัจจุบัน

ผลจากรายได้ของรัฐ (ภาษี) ที่โตต่ำตาม GDP ขณะที่รายจ่ายโตสูงต่อเนื่อง ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ปัจจุบัน 63.8% GDP) และจะสูงต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า สู่ 69% GDP ก่อนลดลง

แต่หนี้สาธารณะไทยถือเป็นระดับกลางๆ ในประเทศที่ Credit rating ระดับเดียวกัน โดยประเทศที่ระดับความน่าเชื่อถือของ S&P Credit rating อยู่ที่ BBB+ ได้แก่ บอตสวานา (18%) ฟิลิปปินส์ (60.2%) อุรุกวัย (67.2%) และโครเอเชีย (73.2%)

สาเหตุที่หนี้สาธารณะสูงเร็วเป็นเพราะการเติบโตเราต่ำที่สุดในบรรดาประเทศ Credit rating เดียวกัน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา เราโต 1.9% ต่ำกว่าเพื่อนกลุ่ม BBB+ ที่ 3.2-5.6%

ที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของเราต่ำ โดยสัดส่วนสินค้าส่งออกไฮเทค อันเป็นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดโลกมากขึ้นนั้น ต่ำแทบจะที่สุดในเอเชียตะวันออก เพียงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน และเกาหลีใต้ ที่มีระดับ 30-60% ของการส่งออก

นอกจากนั้น การวิเคราะห์ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยรายสาขา พบว่า (1) ยังไม่ฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 (2) อุตสาหกรรมไทยที่สามารถแข่งขันได้ มี 1 ใน 4 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด ได้แก่ เชื้อเพลิงอากาศยาน (ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากผลิตไม่ได้เลยช่วงโควิด) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลไม้สดและแช่แข็ง และกระเป๋าถือ (แต่เริ่มลดลงในระยะหลัง) 

แต่ (3) อุตสาหกรรมที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันมีมากมายและเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าอโลหะ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อัญมณี การผลิตเหล็กและโลหะต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์การแพทย์ขั้นต้น อุปกรณ์สุขภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกด้านปิโตรเคมี (PE หรือ โพลีเอทิลิน)

ภาพดังกล่าวทำให้กำลังการผลิตของเรา (Capital Utilization) อยู่ระดับต่ำเช่น อัญมณี (37%) อาหาร (57%) คอมพิวเตอร์ (58%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (59%) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (59%) รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (62%) มีเพียงโรงกลั่น (90%) ที่ยังผลิตได้ดี

 อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินค้าจีนตีตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากข้อตกลง RCEP ในปี 2020 เป็นต้นมา จีนเกินดุลการค้ากับไทยในระดับ 2-4 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนโดยตลอด 

ในระยะหลัง จีนเร่งส่งออกในสินค้าสำคัญที่เคยเป็น Product champion ของไทยมากขึ้น เช่น ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์

ซึ่งจีนทำได้ผ่านการกดราคาสินค้าส่งออกเป็นหลัก เพื่อระบายสินค้าคงคลังของตนให้ลดลง รวมถึงสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับผู้ประกอบการสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มแบตเตอรี่

ภาคการผลิต และภาคส่งออกที่แย่ลงนั้น เป็นอาการแรกของเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะ “ทศวรรษที่หายไป” ซึ่งสาเหตุสำคัญนั้น เป็นเพราะนโยบายเศรษฐกิจที่ตึงตัว แต่เราคงหวังพึ่งนโยบายการเงินไม่ได้ เนื่องจากสัญญาณที่บ่งชี้ชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กระผมจับได้นั้น มี 4 ประการ ได้แก่

1.ธปท. ส่งสัญญาณว่า 2 เป้าหมายนโยบายการเงิน คือ เป้าหมายเศรษฐกิจ และเป้าหมายเงินเฟ้อ กำลังบรรลุแล้ว จึงเหลือเพียงเป้าหมายเสถียรภาพการเงิน ซึ่งวัดจากหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ที่ยังอยู่ในระดับสูงและต้องการกดลงให้ได้ บ่งชี้ว่า ในทางพฤตินัย ธปท. จะกำหนดเป้าหมายสินเชื่อ ไม่ให้เกิน 3.2% ในปีนี้และ 4.3% ในปีหน้า (วัดจาก GDP + เงินเฟ้อ)

2.ธปท. ไม่เห็นด้วยกับการปรับกรอบเงินเฟ้อขึ้น (ที่กระผมมองว่าควรจะต้องปรับขึ้นบ้าง รวมถึงมีผลบังคับใช้ชัดเจนขึ้น เพื่อจะทำให้ไทยหลุดจากกับดัก ดอกเบี้ยต่ำ-เงินเฟ้อต่ำ-เศรษฐกิจโตต่ำ หรือ Low rate-low growth) เพราะจะทำให้รายได้ประชาชนที่ใช้จ่ายได้จริงลดลง

ฉะนั้น โอกาสที่จะเห็นค่าจ้างปรับขึ้น และเศรษฐกิจมีพลวัตขึ้นผ่านการมีเงินเฟ้อจากความต้องการ (Demand-pull inflation) ในระดับหนึ่งนั้นก็เป็นไปได้ยาก

3.ธปท. มองว่า LTV ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ภาคอสังหาฯ ตกต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องปรับ ทั้ง ๆ ที่ จำนวนบ้านสร้างเสร็จ (Housing complete) รายปีลดลงจาก 1.3 แสนหลังในปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มทำมาตรการ LTV มาสู่ 9.6 หมื่นหลังในปี 2023 ก็ตาม

4.ธปท. เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันไทยสินค้าส่งออกไทยที่ลดลง ไม่ใช่ผลจากนโยบายการเงิน และเห็นว่านโยบายการเงินปัจจุบันถูกต้องและเหมาะสมกับประเทศไทยแล้ว

เมื่อความสามารถในการแข่งขันลดลง แต่นโยบายการเงินพึ่งไม่ได้แล้วนั้น ก็เหลือทางแก้ทางอื่น เช่น

(1) แก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพิ่มกรอบการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยท่านอาจต้องตั้งเป้าการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะ Data center ในไทย เพราะ AI คืออนาคต พร้อมนำฐานข้อมูลรัฐด้านเศรษฐกิจ การเงิน นวัตกรรม ลงสู่ Data center เพื่อให้ AI วิเคราะห์ทั้งหมด โดยอาจตั้งบริษัทร่วมลงทุน ระหว่างรัฐกับ Tech giant ต่างๆ

(2) Soft power เชิงรุก ทำการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ว่าจุดแข็งด้านใดของไทยควรส่งเสริม และอัดสรรพกำลังไปด้านนั้น ซึ่งจะดีกว่าการหว่านเงินไปในทุกจุด และไม่ได้ผลลัพธ์ชัดเจน

(3) การปฏิรูประบบการเงิน ตั้งเป้าให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) แปรรูปมาเป็นเอกชน ผ่านการดึงคนเก่งทั้งประเทศและทั่วโลกเข้ามา โดยให้เป้า SFI ว่าจะต้องขยายฐานสินเชื่อ แต่ก็ต้องมีความเข้มแข็งด้านการบริหารความเสี่ยงเช่นกัน และต้องลดบทบาทในฐานะเครื่องมือของรัฐ

ซึ่งโมเดลนี้ เป็นรูปแบบเดียวกับที่อินเดียทำ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการควบรวมธนาคาร และทำให้ภาคการเงินแข็งแกร่งและเป็นส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโต

เศรษฐกิจ-การเมือง-ภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงนวัตกรรมในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และไทยกำลังเป็นผู้แพ้ในกระแสดังกล่าว จึงต้องหวังพึ่งท่าน ที่จะพลิกเกมและดึงไทยให้มาอยู่ในเวทีโลกอีกครั้ง

ขอฝากความหวังลูกหลานไทยไว้กับท่าน

ด้วยความเคารพ

ปิยศักดิ์ มานะสันต์

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่สังกัดอยู่)