‘เศรษฐพุฒิ’ ยัน ’ลดดอกเบี้ย‘ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

‘เศรษฐพุฒิ’ ยัน ’ลดดอกเบี้ย‘  ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

"เศรษฐพุฒิ" พบสื่อให้ข้อมูลเศรษฐกิจไทย ชี้การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่คำตอบแก้ปัญหาเศรษฐกิจในวันนี้ ระบุ กนง.คงอัตรา 2.5% เหมาะสมแล้ว พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ชี้การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยต้องรอบคอบเหตุกระทบหลายส่วน หวั่นลดดอกเบี้ยเพิ่มหนี้ครัวเรือน

วันนี้ (4 กรฎาคม 2567) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในงาน “Meet the press ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน” ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผู้ว่าฯ ธปท.ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทย

ประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของสังคม และสื่อมวลชนก็คือ ประเด็นคำถามว่าทำไม “แบงก์ชาติ ถึงไม่ยอมลดดอกเบี้ย" หลังจากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมามีมติ 6:1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลง 

ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายว่าดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 2.50% เป็นอัตราที่มีความเหมาะสม สอดคล้องการประเมินสถานการณ์ข้างหน้า แต่ถ้าในอนาคตปัจจัยต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไป ก็พร้อมที่จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง โดยในเรื่องของดอกเบี้ยแบงก์ชาติพร้อมจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

ตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยต้องพิจารณาหลายมิติ

ปัจจุบันแบงก์ชาติมีการพิจารณามิติต่างๆ และชั่งน้ำหนักควบคู่กันไป นอกจากนั้นยังติดตามสถานการณ์ต่างประเทศ พร้อมทั้งมองไปข้างหน้าว่าเทรนด์ของดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการตัดสินใจด้านนโยบายต้องดูว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลที่ออกมาเป็นอย่างไร ไม่ได้ดูแค่ ณ ตอนนี้ เพราะนโยบายที่ตัดสินใจวันนี้มีผลต่อวันข้างหน้า แล้วเมื่อเห็นแนวโน้มก็ตัดสินใจได้

‘เศรษฐพุฒิ’ ยัน ’ลดดอกเบี้ย‘  ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

นอกจากการพิจารณาเครื่องมือเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเงินได้ และลดผลกระทบต่างๆ ลงได้ เช่น มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีเป้าหมายในการดูแลเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การผ่อนเกณฑ์ LTV ชั่วคราว

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินเข้ามาเสริม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยที่ผ่านมามีตัวอย่าง ของมาตรการทางการเงิน เช่น สินเชื่อฟื้นฟูจากโควิด โครงการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว  คลินิกแก้หนี้ และการออกมาตรการ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม (Responsible Lending - RL) เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยแก้หนี้เก่าที่มีปัญหา และปล่อยหนี้ใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ

‘เศรษฐพุฒิ’ ยัน ’ลดดอกเบี้ย‘  ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

“เรื่องของดอกเบี้ย ไม่ได้มีการปิดประตูอะไร เพราะตอนนี้มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโลกมหาศาล และเราก็ไม่ได้ยึดติดอะไร แต่เมื่อดูในภาพรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็เหมาะสมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงินการคงดอกเบี้ยไว้ถือว่ายังเหมาะสม และหากเราพึ่งแค่เรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย จะลำบาก จึงต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาเสริม และทำแบบผสมผสาน”

 

เงินเฟ้อต่ำเป้าไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย

ส่วนประเด็นที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ต้องอธิบายว่ากรอบที่แบงก์ชาติใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นกรอบที่ยืดหยุ่น โดยการพิจารณาเรื่องของกรอบเงินเฟ้อแบงก์ชาติก็ไม่ได้พิจารณาแค่อัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาเรื่องของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และเสถียรภาพทางการเงิน ควบคู่กันไปด้วย

เพราะดอกเบี้ย ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อตอบโจทย์หลายโจทย์ ทั้ง การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน หรือเรื่องต่างประเทศ ดังนั้นการใช้จึงต้องดูให้เห็นภาพรวม บาลานซ์หลายปัจจัย และชั่งน้ำหนักหลายมิติ

‘เศรษฐพุฒิ’ ยัน ’ลดดอกเบี้ย‘  ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

“ไม่ใช่แค่ว่า เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบแล้วจะต้องลดดอกเบี้ยในทันที และการดำเนินการในลักษณะนี้ก็สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศที่ใช้กลไกการพิจารณาเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะต้องดูให้ครบในทุก ๆ มิติ ด้วย” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว  

ถอดบทเรียนแก้เงินเฟ้อปี 65 - 66 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยังยกตัวอย่างของการจัดการเงินเฟ้อในช่วงปี 2565 – 2566 ที่เงินเฟ้อพุ่งไปถึง 8% โดยใช้การชั่งน้ำหนักทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และด้านเสถียรภาพ ให้บาลานซ์ ช่วงนั้นแบงก์ชาติก็ถูกต่อว่าทำไมไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย ทั้งที่ประเทศอื่นประกาศขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และขึ้นเร็วแถมบางประเทศขึ้นสูง 0.50%  แต่พอขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ก็ถูกต่อว่า ว่าช้ากว่าประเทศอื่น และขึ้นเพียงแค่ 0.25% เท่านั้นถูกมองว่าทำล้าหลังกว่าหลายประเทศ

แต่สภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยเจอวิกฤติโควิดหลักกว่าหลายประเทศ จนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า หากขึ้นดอกเบี้ยเหมือนหลายประเทศในตอนนั้นคงไม่เหมาะสม เพราะมีการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบภายใน 7 เดือน

ห่วงลดดอกเบี้ยเพิ่มหนี้ครัวเรือน 

นอกจากนี้ในการปรับอัตราดอกเบี้ยต้องดูในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่แบงก์ชาติเป็นห่วงมากอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่า หากดอกเบี้ยสูงก็เป็นภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่หากดอกเบี้ยต่ำเกินไป จะทำให้การกู้ยืมเพิ่มขึ้น กระทบต่อเสถียรภาพการเงินมีความเสี่ยงซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อยู่ที่ 90.8% ต่อ GDP ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับภาวะหนี้ครัวเรือน และเพิ่มความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์