สองคําถามเศรษฐกิจไทย 27 ปีหลังวิกฤติปี 40

สองคําถามเศรษฐกิจไทย 27 ปีหลังวิกฤติปี 40

อาทิตย์ที่แล้ว สํานักข่าว Trader KP ขอสัมภาษณ์ผมในโอกาสครบรอบ 27 ปี การลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 2540

ขอความเห็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจไทยช่วงปี 40 เทียบกับเศรษฐกิจประเทศขณะนี้ที่บางคนมองว่ากําลังจะเป็นสถานการณ์วิกฤติ และสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้รวมถึงแนวทางแก้ไข เป็นสองคําถามที่อยากได้คําตอบ ซึ่งผมได้ให้ความเห็นไป วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นผมในเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

คําถามแรก ความเสี่ยงที่ไทยจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนช่วงต้มยำกุ้งมีหรือไม่

สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ต่างกับช่วงวิกฤติปี 40 มาก เศรษฐกิจไทยปี 40 เป็นเศรษฐกิจที่ใช้จ่ายเกินตัวและขยายตัวสูงมาก คือเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ขับเคลื่อนโดยการก่อหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชน

แต่พร้อมกับการขยายตัวที่สูงเศรษฐกิจก็มีความเปราะบางในแง่เสถียรภาพ คือ อัตราเงินเฟ้อสูงที่ร้อยละ 7 ต่อปีและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 7 ของจีดีพีเช่นกัน อัตราเงินเฟ้อที่สูงเริ่มกระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก

และเมื่อการส่งออกชะลอ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศก็เริ่มหวั่นไหว เกิดเงินทุนไหลออก ซึ่งกดดันเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

ซึ่งขณะนั้นเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แรงกดดันต่อความเชื่อมั่น เงินทุนไหลออก และอัตราแลกเปลี่ยนมีต่อเนื่องจนในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม

หลังการลอยตัว ค่าเงินบาทก็อ่อนลงซึ่งเป็นการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนสู่ดุลยภาพใหม่ ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลช่วงไตรมาสสี่ปีเดียวกัน คือเสถียรภาพด้านต่างประเทศกลับมาเร็วมาก

แต่เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้บริษัทธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศ แต่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ขาดทุน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นหนี้เสียที่กระทบฐานะของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา ก็กระทบสภาพคล่อง การปล่อยสินเชื่อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

นี่คือเหตุผลว่าทำไมวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 จึงใช้เวลา เพราะปัญหาหนี้ที่การแก้ไขต้องแก้ทั้งลูกหนี้คือภาคธุรกิจและเจ้าหนี้คือสถาบันการเงินด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และการปฏิรูประบบการเงินเพื่อวางพื้นฐานให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว

สองคําถามเศรษฐกิจไทย 27 ปีหลังวิกฤติปี 40

วิกฤติปี 40 จึงเป็นวิกฤติแบบฟองสบู่ ที่มาจากการก่อหนี้ของภาคธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นเศรษฐกิจขยายตัวตํ่า เพราะเศรษฐกิจไม่มีกลไกหรือเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนการเติบโต

คือหลังปี 40 เราไม่มีการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเป็นกอบเป็นกํา ที่จะสร้างนวัตกรรม ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิต สร้างสินค้าที่จะเป็นฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ ภาคส่งออกจึงแข่งขันไม่ได้

ผลคือการเติบโตของเศรษฐกิจต้องพึ่งการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐมาก  และเมื่อรายได้ไม่โตแต่ประชาชนต้องการใช้จ่าย หนี้ครัวเรือนก็สูงขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 91.6 ของจีดีพี

ขณะเดียวกันหนี้ภาครัฐก็สูงขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 63.4 ของจีดีพี เพราะรัฐมีรายได้จากภาษีลดลง แต่มีภาระที่ต้องดูแลประชาชนจำนวนมากขึ้นที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ จากที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ตํ่า

ดังนั้น ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเราขณะนี้คือ เศรษฐกิจจะขยายตัวตํ่าไปเรื่อยๆ เหมือนญี่ปุ่นหลังฟองสบู่แตก ซึ่งจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน และอาจนําไปสู่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

สองคําถามเศรษฐกิจไทย 27 ปีหลังวิกฤติปี 40

คือเมื่อรายได้ขยายตัวต่ำนาน อำนาจซื้อของประชาชนก็ลดลง ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย กดดันให้ราคาสินค้าลดลง และเมื่อประชาชนไม่ใช้จ่าย บริษัทก็ปรับตัวโดยตัดรายจ่าย ลดค่าจ้าง ลดการจ้างงาน ลดการลงทุน หรือไปลงทุนต่างประเทศแทน

ผลคือเศรษฐกิจยิ่งขยายตัวตํ่าและราคาสินทรัพย์ในประเทศ เช่น บ้าน ที่ดิน หุ้น ก็จะลดลงตาม นี่คือความเสี่ยงที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะถ้าเกิดขึ้น นโยบายการเงินการคลังแบบลดดอกเบี้ยหรือรัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้นก็จะแก้ไม่ได้

คําถามที่สอง อะไรคือสาเหตุทําให้เศรษฐกิจโตตํ่าและแนวทางแก้ไขควรเป็นอย่างไร

เศรษฐกิจไทยที่โตตํ่าไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดตํ่ามาตลอดหลังปี 40 คือจากเฉลี่ยร้อยละ 7 ลงมาเหลือเฉลี่ยร้อยละ 5 และมาที่ร้อยละ 2-3 ในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุที่พาเรามาถึงจุดนี้ก็มาจากสองเรื่องหลัก

หนึ่ง การไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตหรือภาคเศรษฐกิจจริง ทําให้การลงทุนไม่เกิดขึ้น คือวิกฤติ 40 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย เกิดวิกฤติในหลายประเทศพร้อมกัน เช่นไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย

แต่วิกฤติก็เป็นโอกาสให้ประเทศเริ่มต้นใหม่ ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างพื้นฐานให้เศรษฐกิจโตได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น

ซึ่งเกาหลีใต้ทํา คือปฏิรูปทั้งในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงหลังปี 40 ทําให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้พุ่งทะยานกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของโลกขณะนี้

ส่วนไทยและอินโดนีเซียหลังวิกฤติปี 40 ปฏิรูปเฉพาะภาคการเงิน แต่ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ภายใต้การนําของประธานาธิบดี โจโก วีโดโด อินโดนีเซียก็เริ่มปฏิรูปภาคการผลิต ทําให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาก เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 แต่ของเราไม่ได้ปฏิรูปอะไรช่วงสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจึงไม่มีการลงทุนและโตตํ่ามาตลอด

สอง การเมืองในประเทศ ที่ความขัดแย้งมีมาต่อเนื่องเกือบจะยี่สิบปีซึ่งนานมาก สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจ กระทบความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุน ทําให้การลงทุนในประเทศลดลงมาก

ที่สำคัญความขัดแย้งทางการเมืองกระทบคุณภาพการทํานโยบายของผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนของความขัดแย้งเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือมีอำนาจ ก็จะมุ่งเรื่องระยะสั้น รวมทั้งเพื่อหาเสียงหรือเอาใจเครือข่ายทางการเมืองเพื่อความอยู่รอดมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศหรือพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าอย่างที่เกาหลีใต้หรืออินโดนีเซียทํา

ผลคือประเทศเสียโอกาส ไม่สามารถพัฒนาหรือผลักดันเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าได้อย่างที่หลายประเทศทํา

สําหรับแนวทางแก้ไข คําตอบคือต้องปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อให้เศรษฐกิจมีสมรรถนะที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ทั้ง ภาคเกษตร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ดิจิทัล ภาคการศึกษา ทักษะแรงงาน ระบบราชการ การบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ

สิ่งเหล่านี้จำเป็นเพื่อปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจที่ประเทศมีให้ออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และหลุดออกจากวงจรการขยายตัวตํ่า และถ้าไม่ทํา เศรษฐกิจก็จะซึมยาวและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจเงินฝืดที่อาจไม่มีการเติบโตในที่สุด

สองคําถามเศรษฐกิจไทย 27 ปีหลังวิกฤติปี 40

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]