พิมพ์ภัทรา ชี้ อุตฯ ยานยนต์ไทย ถึงจุดเปลี่ยน รัฐเร่งสร้างสมดุล ‘สันดาป‘ - ’EV’
“พิมพ์ภัทรา” ชี้การผลิตรถยนต์ในไทยเผชิญ 3 โจทย์ยากทั้งรัฐบาล ผู้ผลิต ผู้บริโภค นโยบาย EV ยังจำเป็น เผยหารือหอการค้าญี่ปุ่น - เจโทร เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยห่วงต้นทุนเพิ่ม เผยสัปดาห์หน้า GAC AION ค่าย EV จีนเปิดโรงงานกำลังการผลิต 5 หมื่นคัน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ได้ประกาศย้ายโรงงานผลิต และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จากโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปโรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม การย้ายโรงงานในครั้งนี้เป็นไปตามแผนที่ฮอนด้าได้มีการปรับแผนภายในโดยย้ายโรงงานผลิต และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ไปอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี แทน ส่วนโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีอยู่แต่ปรับจากการผลิตรถยนต์มาเป็นการผลิต และส่งออกชิ้นส่วนที่ผลิตออกจากโรงงานนี้แทนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“ที่ผ่านมาบริษัท ฮอนด้า ได้มีการย้ายการผลิตส่วนหนึ่งไปแล้วหลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศเมื่อปี 2554 และครั้งนี้ก็เห็นว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตไปรวมกันมากกว่า ส่วนหนึ่งก็ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้นด้วย กรณีของฮอนด้าไม่เหมือนกับซูซูกิ กับซูบารุที่ปิดโรงงานไปก่อนหน้านี้”
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นช่วงปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งปัญหาความยากในช่วงนี้คือ การเผชิญปัญหาทั้งในส่วนของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างรถ EV และรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) ซึ่งในส่วนของรถ EV นั้นถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญในอนาคตทั้งเรื่องการลงทุนใหม่ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปก็มีความสำคัญมากเพราะเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงในส่วนนี้เช่นกัน ขณะที่ผู้บริโภคก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เผชิญปัญหาเช่นกันเพราะในเรื่องนี้ก็มีผลกระทบจากการปรับตัวของผู้ผลิตที่มีการปรับตัวในช่วงที่ตลาดมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น
ยืนยันการแข่งขันอุตฯยานยนต์ไทยได้ประโยชน์
ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปทุกค่ายก็ได้มีการปรับตัว ขณะที่ค่ายรถยนต์ใหม่ๆ ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็มีการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ตอนนี้ก็มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของค่ายรถยนต์ต่างๆ
แต่ทั้งหมดเชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ในหลายๆ ประเภทในอนาคต การจะผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์แต่ละแห่งยังตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ทั้ง ICE และ EV สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องหาทางบริหารจัดการ และหาทางสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่หลากหลายมากขึ้น
ส่วนประเด็นค่ายรถยนต์หลายแห่งมีปัญหายอดขาย และกำลังการผลิตในส่วนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะนัดหารือกับผู้ประกอบการหรือไม่นั้น ที่ผ่านมามีการหารือร่วมกันกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ไปแล้ว
“พิมพ์ภัทรา”ชี้รัฐบาลพร้อมช่วยค่ายรถญี่ปุ่น
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นที่ได้มีการหารือกับหน่วยงานของญี่ปุ่นพบว่าประเด็นที่มีการสอบถามจากเอกชนญี่ปุ่นก็คือ ประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และยูโร 6 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการ และค่ายรถเพิ่มขึ้นอีกได้ในอนาคตซึ่งต้องการความชัดเจน และแน่นอนของนโยบายนี้
“ที่ผ่านมาได้คุยกับเอกชนญี่ปุ่นไปแล้วมีข้อเสนอหลายอย่าง ซึ่งรัฐบาลก็กำลังพิจารณา แต่สิ่งที่เป็นห่วงตอนนี้คือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับซัพพลายเชน ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีของไทย จึงขอความร่วมมือว่าให้ช่วยเหลือกัน เพราะตอนนี้เทรนด์ความต้องการรถยนต์เปลี่ยนไป โดยอยากให้มองว่า แม้จะมี EV เข้ามา มุมบวกก็มีกับ ICE เหมือนกัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็พยายามหาทางช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปร่วมงานเปิดโรงงานรถ EV แบรนด์ GAC AION ซึ่งผลิตรถยนต์ EV อีกแห่งที่จะเปิดในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงการใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ EV ในภูมิภาคของไทย
สำหรับโรงงานเฟสแรกของ GAC AION มีการลงทุนกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ ด้วยแผนการผลิตจำนวน 50,000 คันแรก โดยจะเป็นโรงงานแห่งแรกของ GAC ที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน และจะผลิตรถยนต์รุ่นพวงมาลัยขวา ในรูปแบบของ Completed Knocked Down
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์