อัปเดตล่าสุด ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ สรุปไทม์ไลน์ – แหล่งเงิน 4.5 แสนล้าน
“คลัง” สรุปไทม์ไลน์-วงเงิน-แหล่งที่มา ล่าสุด โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมชงเข้าบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ 15 ก.ค.นี้ เตรียมแถลงใหญ่วันลงทะเบียน 24 ก.ค.จับตารายละเอียดเข้า ครม.30 ก.ค.นี้ ส่องแหล่งที่มาทั้งหมดวงเงินหลังปรับขนาดโครงการเหลือ 4.5 แสนล้าน
โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ใน กระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีความล่าช้าจากแผนเดิม มีการปรับการทำงานในเรื่องของไทม์ไลน์ วงเงิน และแหล่งที่มาของเงินในโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมีการแถลงข่าวใหญ่ในโครงการนี้ในวันพุธที่ 24 ก.ค.ที่จะถึงนี้
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าขณะนี้กรอบการทำงาน (ไทม์ไลน์) ของโครงการที่มีความชัดเจนในส่วนที่จะดำเนินการต่อไป ได้แก่
วันที่ 15 ก.ค.2567 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯจะนำรายละเอียดโครงการเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
วันที่ 24 ก.ค.2567 นายกรัฐมนตรี จะแถลงรายละเอียดทั้งหมดของโครงการ ซึ่งรวมทั้งสินค้าที่ประชาชนจะใช้ซื้อโดยในการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีจะมีการแจ้งวันและระยะเวลาลงทะเบียนอย่างเป็นทางการให้ประชาชนรับทราบ ก่อนจะเปิดระบบลงทะเบียนต่อไป
วันที่ 30 ก.ค.2567 คณะกรรมการฯ จะนำเสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบรายละเอียดทั้งหมดของโครงการอีกครั้ง
ส่วนวันเริ่มต้นให้ประชาชนเริ่มใช้จ่ายในโครงการ กำหนดไว้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ (ยังไม่ระบุวันที่ชัดเจน)
ปรับใหม่วงเงินโครงการเหลือ 4.5 แสนล้าน ไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส.
สำหรับแหล่งเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดอีกครั้งจากเดิมที่มีการประกาศว่าจะใช้แหล่งเงินจาก 3 ส่วนได้แก่
1. ขยายกรอบวงเงิน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
2. เติมเงินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณของปี 2568
และ 3.บริหารจัดการเงินงบประมาณ ปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องพิจารณาว่า รายการไหนปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลางอาจมีการนำมาใช้เพิ่มเติมถ้าวงเงินไม่เพียงพอ
โดยล่าสุดมีการปรับวงเงินใหม่ในโครงการเป็น 4.5 แสนล้านบาท และมีการปรับแหล่งเงินใหม่อีกครั้ง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปและข้อเสนอในหลายประเด็นที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ในวันที่ 15 ก.ค.
โดยปรับวงเงินของโครงการลงมาเหลือ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท เพื่อไม่เป็นการตั้งงบประมาณเกินความจำเป็น และบริหารงบประมาณตามจำนวนผู้ลงทะเบียนที่คาดว่ามีจะไม่เกิน 90% โดยจะปิดการลงทะเบียนก่อนสิ้นเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตามยืนยันว่าขนาดของโครงการยังตั้งเป้าหมายสำหรับประชาชนที่มีสิทธิลงทะเบียน 50 ล้านคน
โดยการปรับวงเงินมาจากข้อเสนอและข้อห่วงใยจากหน่วยงานตรวจสอบและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ส่งหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังเรื่องการจัดตั้งงบประมาณที่มีความเหมาะสม โดยระบุว่าการตั้งงบประมาณที่มากเกินไปจะเป็นการเสียโอกาสในการใช้งบประมาณของหน่วยงานอื่น
ซึ่งจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่าสถิติของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการของรัฐที่ผ่านมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง มียอดผู้เข้ามาใช้สิทธิ์ไม่เกิน 90%
รวมทั้งข้อเสนอของสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง เสนอแหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการเมื่อไม่ต้องตั้งงบประมาณเกินความจำเป็นจึงสามารถบริหารจัดการได้ด้วยงบประมาณปกติ
โดยการใช้งบประมาณปี 2567 และปี 2568 วงเงินรวม 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่เดิมตั้งไว้ 1.72 แสนล้านบาท รวมทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ
ที่มาของแหล่งเงินงบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 4.5 แสนล้านบาท จึงประกอบด้วย
1.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท
2.การบริหารจัดการงบประมาณในปี 2567 และงบกลางฯปี 67 43,000 ล้านบาท
3.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 โดยตั้งงบประมาณ 152,700
4.การบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลางฯ และงบประมาณส่วนที่หน่วยงานใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท