รัฐบาลอย่าฝากความหวังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้ที่นโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
ปัญหาเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ และเป็นวิกฤติที่ฟื้นตัวยากกว่าช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 27 ปีก่อน ปัญหานี้รุนแรงกว่าที่จะหวังพึ่งเพียงแค่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาในขณะนี้
นักเศรษฐศาสตร์มองตรงกันว่าวิกฤติครั้งนี้เกิดที่ระดับฐานราก คนรายได้น้อยขาดสภาพคล่อง ทำมาหากินลำบาก หนี้ครัวเรือนสูง ค่าครองชีพสูง สภาพคล่องหดหาย
เครื่องมือทำมาหากินอย่างรถกระบะ มอเตอร์ไซด์เริ่มถูกยึดมากขึ้น ปรากฎการณ์รถถูกยึดเต็มลานประมูลบ่งบอกถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งวิกฤติครั้งนี้จึงเป็นวิกฤติของคนส่วนใหญ่ของประเทศหากไม่แก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลาวิกฤตินี้จะลามขึ้นสู่ชนชั้นกลาง อย่างที่เริ่มเห็นสัญญาณการผิดชำระหนี้ในอสังหาริมทรัพย์บ้านที่มีราคา 3 – 5 ล้านบาทเริ่มมีคนผ่อนไม่ไหวมากขึ้น
อีกภาพหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจคือ ภาพที่ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ที่ไม่กล้าปล่อยเพราะสินเชื่อที่ปล่อยไปก่อนหน้านี้มีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(Special Mention Loan:SM)ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อภายใต้กำกับ นอนแบงก์และสถาบันการเงินของรัฐ ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียมีจำนวนถึง 6.6 แสนล้านบาทตัวเลข SM ที่สูงขึ้นทำให้ธนาคารพาณิชย์กังวลไม่น้อยว่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะพุ่งสูงขึ้นอีก
ที่ผ่านมารัฐบาลพูดไม่ผิดที่บอกว่า เศรษฐกิจประเทศวิกฤติแล้ว ต้องรีบแก้ไข แต่ที่ยังผิดและไม่ถูกต้องนักก็คือการบอกว่านโยบาย"ดิจิทัลวอลเล็ต"จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเพื่อให้ได้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเหมือที่หาเสียงไว้ รัฐบาลเสียเวลาไปกับนโยบายนี้อย่างมาก ทั้งการแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณ มีการปรับปรุงงบประมาณปี 2567 หลายครั้ง การปรับเป้าหมายการคลังระยะปานกลางอีกอย่างน้อย 2 ครั้งจนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 – เม.ย.2567 ไม่มีเม็ดเงินงบประมาณที่เป็นงบฯลงทุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจเลยแม้แต่บาทเดียว
แม้กระทั่งในวันนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังสร้างความไม่แน่นอนให้ระบบงบประมาณของประเทศไม่สิ้นสุด ในการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ก็ยังมีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงการใช้วงเงินในโครงการนี้ใหม่
โดยลดขนาดโครงการลงจาก 5 แสนล้านบาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท ไม่ใช้วงเงินของ ธ.ก.ส.แต่ใช้วงเงินจากงบประมาณปี 2567 – 2568 แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท บริหารจัดการงบฯกลางฯปี 67 43,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ตั้งงบประมาณ 152,700 และการบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลางฯ และงบประมาณส่วนที่หน่วยงานใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท
ที่น่าจับตาก็คือวงเงินในปี 2568 ที่จะใช้การบริหารจัดการเพิ่มอีก 132,300 ล้านบาท นั้นไม่ง่ายที่จะสามารถตัดงบฯจากหน่วยงานต่างๆเพื่อมาทำดิจิทัลวอลเล็ตได้ รัฐบาลอาจต้องเตรียมแผนในการออกพ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมปี 68 อีกครั้ง
ปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วงในขณะนี้รัฐบาลจึงไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่ดิจิทัลวอลเล็ตเพียงโครงการเดียว เพราะนอกจากความไม่แน่นอนในเรื่องแหล่งเงินงบประมาณ ผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจยังไม่สามารถประเมินได้แน่นอนว่าจะกระตุ้นจีดีพีได้เท่าไหร่ หากจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตเกิน 3% ต้องมีนโยบายเศรษฐกิจหลายด้านที่ต้องทำทั้งกระตุ้นและแก้ปัญหาเศรษฐกิจควบคู่กันไป