จัดงบฯ 1.22 แสนล้าน เพิ่มใน 'งบฯกลางปี 67' ลุยแจกดิจิทัลวอลเล็ต ไตรมาส 4 ปีนี้

จัดงบฯ 1.22 แสนล้าน เพิ่มใน 'งบฯกลางปี 67' ลุยแจกดิจิทัลวอลเล็ต ไตรมาส 4 ปีนี้

รัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อโครงการเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยจะเสนอเข้าสู่สภาฯ วันที่ 17 ก.ค.นี้ สำนักงบฯให้เหตุผลในการจัดงบประมาณส่วนนี้ไว้ในงบกลางฯเพื่อง่ายต่อการจัดสรรงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

KEY

POINTS

  • ครม.จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 เพิ่มอีกจำนวน 1.22 แสนล้านบาท โดยจัดทำงบฯกลางปี เพื่อจัดทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัล
  • โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ จะเสนอเข้าสู่สภาฯในวาระที่ 1 วันที่ 17 ก.ค.นี้
  •  สำนักงบประมาณให้เหตุผลในการจัดงบประมาณส่วนนี้ไว้ในงบกลางฯเพื่อง่ายต่อการจัดสรรงบประมาณในการ กระตุ้นเศรษฐกิจ 

ความคืบหน้าในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลวงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนของการจัดสรรวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ฉบับที่ พ.ศ.... เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยรัฐบาลจะมีการส่งร่าง พ.ร.บ.ฯเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ โดยจะมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมฉบับนี้จำนวน 32 คน

ตั้งรายได้ 1 หมื่นล้าน รายจ่าย 1.22 แสนล้าน

โดยในส่วนของการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เมื่อดูโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณที่สำนักงบประมาณชี้แจงให้กับ ครม.รับทราบ และเตรียมนำรายละเอียดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาฯ โดยโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 นั้นแบ่งเป็นรายจ่าย 1.22 แสนล้านบาท โดยเป็นรายรับ 1 หมื่นล้านบาท

ตั้งรายจ่ายฯไว้ในงบกลางฯเพิ่มเติม

โดยในส่วนของงบประมาณรายจ่าย 1.22 แสนล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณชี้แจงว่างประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกตามเหตุผลและความจำเป็นทำให้  พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีเหตุผลและความจำเป็นต้องเสนอตั้งงบประมาณในส่วนนี้อยู่ในรายจ่ายอยู่ในงบกลางโดยสรุปได้ดังนี้

  1. เป็นค่าใช้จ่ายที่ทราบวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน แต่ไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้าเกี่ยวกับหน่วยรับงบประมาณที่จะรับผิดชอบในการดำเนินงานหรือใช้จ่ายงบประมาณ และไม่สามารถกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนของแต่ละหน่วยรับงบประมาณได้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ
  2. เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายเม็ดเงินไปในพื้นที่ต่าง ๆ และเพื่อรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ประชาชนในการดำรงชีพและประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงจำเป็นต้องเสนอเป็นภาพรวมไว้ในงบกลางเต็มจำนวนที่มีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท

คาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้โต 2.5% 

 นอกจากนี้สำนักงบประมาณได้มีการนำเสนอรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2567 ซึ่งสภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.0 - 3.0% (ค่ากลาง2.5%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1 - 1.1% (ค่ากลางร้อยละ 0.6) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

กางปฎิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 

สำหรับปฏิทินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ตามที่ ครม.เห็นชอบในขั้นตอนการทำงานของสภาฯประกอบไปด้วย

  • 9 กรกฎาคม 2567 คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร

 

  • 17 กรกฎาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1

 

  • 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 2 – 3

 

  • 6 สิงหาคม 2567 วุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

  • 13 สิงหาคม 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป