ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจโตช้า ทำยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจไทยลดลง 1.91%

ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจโตช้า ทำยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจไทยลดลง 1.91%

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ 6 เดือนแรกจำนวน 46,383 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 145,079 ล้านบาทลดลง 1.91%  หลังเศรษฐกิจไทยโตไม่ได้เต็มที่  คาด 6 เดือนหลังปี 67  ได้รับแรงหนุจากการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวดัน ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่เข้าเป้า 90,000 - 98,000 ราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรก หรือ 6 เดือน(ม.ค.-มิ.ย.67) มีจำนวน 46,383 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 145,079 ล้านบาทซึ่งเป็นไปตามเป้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนครึ่งปีแรกไว้ที่ 44,000 - 47,000 ราย โดยธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3,656 ราย ทุน 16,013.34 ล้านบาท 2.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 3,521 ราย ทุน 7,255.18 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,105 ราย ทุน 4,352.90 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88% 7.59% และ 4.54% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเดือนม.ค. – มิ.ย. 2567

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2566) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจลดลงเล็กน้อย 903 ราย  ลดลง 1.91% ทุนจดทะเบียนลดลง 283,568.88 ล้านบาท ลดลง 66.15% โดยปี 2566 (ม.ค.- มิ.ย.) มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จำนวน 47,286 ราย ทุน 428,647.49 ล้านบาท

เนื่องจากปี 2566 มีบริษัทมูลค่าทุนจดทะเบียนเกิน 1 แสนล้านบาท ควบรวมกิจการและแปรสภาพจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ 1. การควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เดิม และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ใหม่ โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 138,208.40 ล้านบาท และ 2. การแปรสภาพบริษัทจำกัด เป็น บริษัทมหาชนจำกัด ของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีมูลค่าทุน 124,435.03 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนในปี 2566 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ 6 เดือนแรกปี 2567 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 7 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 19,178.14 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจโฮลดิ้ง 4 ราย ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ 1 ราย ธุรกิจเกี่ยวกับแว่นตา 1 ราย และธุรกิจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ 1 ราย

ส่วนธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการมีจำนวน 6,039 ราย ทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 603 ราย ทุน 1,209.18 ล้านบาท 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 340 ราย ทุน 4,863.76 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 197 ราย ทุน 457.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.99%, 5.63% และ 3.26% จากจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนม.ค. – มิ.ย. 2567

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 922,508 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,334,762.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. บริษัทจำกัด 719,281 ราย (77.97%) ทุน 16,110,875.13 ล้านบาท (72.14%) 2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 201,757 ราย (21.87%) ทุน 472,044.11 ล้านบาท (2.11%) และ 3. บริษัทมหาชนจำกัด 1,470 ราย (0.16%) ทุน 5,751,842.85 ล้านบาท (25.75%)

สำหรับชาวต่างชาติลงทุนในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ครึ่งปีแรกของปี 2567  มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 385 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 106 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 279 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,852 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1. ญี่ปุ่น จำนวน 103 ราย (27%) เงินลงทุน 44,018 ล้านบาท 2. สิงคโปร์ จำนวน 63 ราย (16%) เงินลงทุน 7,379 ล้านบาท 3. สหรัฐอเมริกา จำนวน 60 ราย  (16%) เงินลงทุน 1,223 ล้านบาท 4.จีน จำนวน 42 ราย (11%) เงินลงทุน 5,997 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง จำนวน 31 ราย (8%) เงินลงทุน 12,062 ล้านบาท

ขณะที่ต่างชาติลงทุนในพื้นที่ EEC ครึ่งปีแรกปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 116 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21,034 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 1. ญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 5,225 ล้านบาท 2. จีน 21 ราย ลงทุน 1,918 ล้านบาท 3. ฮ่องกง 12 ราย ลงทุน 5,008 ล้านบาท และ 4. ประเทศอื่นๆ 43 ราย ลงทุน 8,883 ล้านบาท

นางอรมน กล่าวว่า  จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจครึ่งปีแรก 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ม.ค.-มิ.ย.2566) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2566 มีจำนวนค่อนข้างสูง อีกทั้งในปี  67 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 2.5% ในปี 2567 โดยมีการขยายตัวของการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ส่วนธุรกิจไทยครึ่งปีหลัง (ก.ค. – ธ.ค. 2567) เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกันที่ 2.7% โดยมุมมองเศรษฐกิจในปี 2567 ของ SCB EIC มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี อีกทั้งเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศจะปรับสูงขึ้นจากผลการเลือกตั้งเกือบทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจปี 2567 ยังคงคาดการณ์การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่ 5 - 15% (90,000 - 98,000 ราย) จากปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้ง การลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา

โดยการดำเนินการของภาครัฐทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ ซึ่งจากแผนงานของภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลังในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วง High Season ฤดูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทยสูงสุดของปี ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็นิยมท่องเที่ยวช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน น่าจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และธุรกิจอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย และคาดว่าจะมีนักลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยท้าทาย เช่น ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากมีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและกระทบมาถึงเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME โดยตรง โดยหากงบประมาณลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคโดยทันทีเช่นเดียวกัน