เปิดเงื่อนไขลงทะเบียน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ร้านค้าอยากเข้าร่วมโครงการต้องรู้
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตใกล้จะเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียน คลังคาดจำนวนร้านค้าลงทะเบียน 1.4 ล้านราย ร้านค้าที่ลงทะเบียนแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ร้านค้าใช้จ่ายกับประชาชน และการจ่ายร้านค้ากับร้านค้า
โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต มีความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้น โดยในวันที่ 24 ก.ค.นี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแถลงข่าวใหญ่ที่กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับรายละเอียดการลงทะเบียน รวมทั้งการใช้งานแอปพลิเคชัน โดยประชาชนกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟนจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นระยะเวลา 45 วัน
ส่วนระยะเวลาการลงทะเบียนร่วมโครงการของร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการกระทรวงการคลังจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง
ที่ผ่านมาแม้จะมีความชัดเจนเรื่องคุณสมบัติและเงื่อนไขของประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เช่น อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท นับเฉพาะเงินฝากสกุลบาท รวมกันทุกบัญชี ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่ในส่วนของเงื่อนไขร้านค้าที่จะเข้าโครงการนั้นยังไม่มีการประกาศที่ชัดเจน
“กรุงเทพธุรกิจ” ติดตามเงื่อนไขของร้านค้าในการลงทะเบียนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมานำเสนอเพื่อให้ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้รับทราบเพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้ทันก่อนที่จะมีการประกาศลงทะเบียนในเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2567 เห็นชอบรายละเอียดของประเภทร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
แบ่งร้านค้า 2 ประเภทร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
1.ร้านค้าที่รับการใช้จ่ายจากประชาชน กำหนดให้ เป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
2. ร้านค้าที่รับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไข
ทั้งนี้กำหนดให้ร้านค้าที่สามารถเบิกถอนเงินสดได้เฉพาะร้านค้าที่อยู่ใน ระบบภาษี ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT)
ใช้นิยามเดิมกำหนดประเภทร้านค้า
นอกจากนี้ ได้อ้างอิงนิยามของร้านค้าขนาดเล็ก ตามที่หน่วยงานต่างๆ ได้นิยามไว้ ดังนี้
โครงการคนละครึ่ง ประกอบด้วย ร้านค้าบุคคลธรรมดา ร้านธงฟ้า กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน และบริการขนส่งสาธารณะ ต้องไม่เป็นนิติบุคคล และไม่เป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์
กรมการค้าภายใน ประกอบด้วย ร้านค้าปลีกและร้านโชห่วงท้องถิ่น ร้านค้าสหกรณ์ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน โอทอป ร้านที่จำหน่ายสินค้า 6 หมวด ได้แก่ สินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม ยารักษาโรค วัสดุเพื่อการศึกษา ธูป เทียน และเครื่องสักการะ โดยมีทำเลที่ตั้งร้านแน่นอนและอยู่ในแหล่งชุมชน
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นร้านที่เน้นจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก สัดส่วน 70-90% และตั้งในแหล่งชุมชน เน้นการบริการและให้ความสะดวกแก้ลูกค้าผู้ประกอบการ
เว็บไซต์ให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก เป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ที่ดูแลทุกอย่างภายในร้านเองคนเดียว เรียกว่า ร้านโชห่วย หรือร้านขายของชำ มีพื้นที่น้อยๆ ในบริเวณชั้น 1 ของหน้าบ้าน หรือตึกแถว 1 คูหา และจำหน่ายของใช้ในชีวิตประจำวันในชุมชนหรือคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง
ร้านค้าเตรียมอะไรบ้าง ก่อนวันเปิดลงทะเบียน
- เลขบัตรประชาชน/เลขประจำตัวผู้เสียภาษี
- เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้สมัคร ต้องเป็นเบอร์ที่ลงทะเบียนรายเดือน
- กรอกข้อมูลร้านค้า สถานที่ตั้ง ประเภทสินค้า บัญชีเพื่อรับเงิน และกดรับทราบเงื่อนไขในการสมัครโครงการ
โดยเปิดให้ลงทะเบียนได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วม สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และอบต. กับ อบจ.ประจำจังหวัด และอีกช่องทางผ่านออนไลน์ แอปพลิเคชั่น ทางรัฐโดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ในช่วงต้นเดือนส.ค.
คาดร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 1.4 ล้านราย
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในส่วนของการเปิดรับสมัครร้านค้า เบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายร้านค้าขนาดเล็กรายย่อยเข้าร่วมกว่า 1.4 ล้านราย แบ่งเป็นร้านค้าที่มีข้อมูลในส่วนกระทรวงพาณิชย์ ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และบุคคลธรรม 9.1 แสนราย ร้านธงฟ้า ร้านอาหารธงฟ้า 1.5 แสนราย ร้านค้าโชห่วย ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ตลาดนัด ของกระทรวงมหาดไทย 4 แสนราย กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9 หมื่นราย
ทั้งนี้ ในส่วนของร้านค้าขนาดเล็กที่เป็นแฟรนไชส์ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเวน ร้านอาหารฟาสฟู้ดต่างๆ ยังสามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเงื่อนไขที่ห้ามร้านเข้าร่วม ยังห้ามเฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดิม
กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่าย
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงื่อนไขทั้งหมดของโครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการออกแบบมาเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบและเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ในกรณีที่มีข้อคำถามว่าจ่ายเป็นเงินสดจะดีกว่าหรือไม่นั้น คำตอบคือไม่ หากเป็นการจ่ายเงินสดผู้ที่ได้รับเงินก็จะนำเงินไปเก็บในบัญชีและไม่เกิดการหมุนเวียน
ส่วนที่ว่าทำไมต้องแบ่งเป็นการใช้จ่าย 2 รอบ นั้น เพราะต้องการให้การใช้จ่ายรอบแรกมีการหมุนเวียนเงินอยู่ในระดับชุมชน และการเพิ่มรายการห้ามซื้อก็เพื่อต้องการให้เม็ดเงินหมุนอยู่ในประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างการจ้างงาน และการตั้งเงื่อไขการใช้ภายใน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสั้น
“ทั้งนี้ ประเมินว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจในปีนี้ในช่วงสั้นๆ และคาดว่าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2568 ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีนโยบายที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติมนอกเหนือจากการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาอยู่ในจัดที่สามารถแข่งขันได้”