ตลาดรถหดตัวแรง สัญญาณเตือนการจ้างงาน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยลดกำลังการผลิตลง มีสาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมถึงรายได้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำที่เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้น้อย
อุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ใหม่มาอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน จากประมาณการเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1.9 ล้านคัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงถึง 200,000 คัน โดยเป็นการปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์เฉพาะการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศหดตัวอย่างรุนแรง ในขณะที่การผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกยังคงประมาณการเดิมไว้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยได้ลดกำลังการผลิตลง มีสาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมถึงรายได้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำที่เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้น้อย ซึ่งทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นการบริโภคลดลงและลดการใช้จ่ายลง รวมถึงที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับต่ำมาหลายเดือนแล้ว
ขณะที่ปัญหาสถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะสินเชื่อการเช่าซื้อรถกระบะที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการซื้อรถยนต์ในประเทศไทยเป็นการเช่าซื้อมีสัดส่วนถึง 80% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 47,662 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 26.04%
ปัญหาการถดถอยของอุตสาหกรรมยานยนต์ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในระดับต่ำ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าในระดับเทียร์ 1 หรือโรงงานประกอบรถยนต์เป็นบริษัทต่างชาติเกือบทั้งหมด แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็งและมีแรงงานในระบบมากกว่า 400,000 คน ตลอดซัพพลายเชนตั้งแต่โรงงานประกอบรถยนต์ถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นเอสเอ็มอี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมถึง น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นส่วนแรกของรัฐบาลที่ควรจะต้องรับทราบปัญหาการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถดถอยลง เพราะไม่ใช่ภาคการผลิตส่วนเดียวที่จะเห็นภาวะถดถอยเช่นนี้ โดยในหลายอุตสาหกรรมเริ่มมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ซึ่งรัฐบาลต้องคิดแล้วว่าจะทำให้อย่างไรให้ภาคการผลิตขยับตัวดีขึ้นที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างเศรษฐกิจ