กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งฟื้นฟูปัญหาสารเคมีรั่วไหล เสนอ 'กก.วล.' ในเดือนนี้
กระทรวงอุตสาหกรรม ถกความคืบหน้าแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหล เร่งฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน ยึดความปลอดภัยประชาชนเป็นสำคัญ พร้อมเสนอแผนต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในเดือน ส.ค. 67
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหล ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ว่า จากปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียและสารอันตรายทั้งในพื้นที่ทั้งจังหวัดระยอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในวงกว้างนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
จึงได้กำชับและเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้เร่งแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้ 1. คณะกรรมการจัดการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายเห็นชอบให้ใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท ภายใต้วงเงินที่ได้รับจากศาลจังหวัดระยอง มาทำการบำบัดกำจัดตะกรันอลูมิเนียมทั้งหมดในพื้นที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กุล่มบริษัทในเครือเอสซีจี และบริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) ในการเบี่ยงทางน้ำป้องกันปริมาณน้ำฝนไม่ให้ไหลกัดเซาะบ่อกักเก็บน้ำเสียและชะล้างสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมไหลปนเปื้อนออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง
2. การจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน งบประมาณ 6.9 ล้านบาท ในพื้นที่โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และงบประมาณ 4 ล้านบาท ในพื้นที่บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภอสาขาอุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ
3. การดำเนินการตามมาตรการป้องกันการชะล้างสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมปนเปื้อนออกสู่พื้นที่โดยรอบในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ต่าง ๆ
4. การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบกรณีบริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขาศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และ
5. การบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้บูรณาการร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหลกรณีเร่งด่วน จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่
บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขาอุทัย) บริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ลักลอบทิ้งกากของเสียและสารอันตรายในจังหวัดฉะเชิงเทราอีก 2 พื้นที่
เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานและกรอบวงเงินงบประมาณพื้นฟูพื้นที่ตามที่เสนอ ซึ่งจะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2567 ต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการควบคุมมลพิษได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าของที่ดินหรือบุคคลใดใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง จนกว่าจะได้ดำเนินการฟื้นฟูจนแล้วเสร็จ อีกทั้ง ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการใช้อำนาจตามกฎหมายในการสั่งห้ามมิให้เจ้าของที่ดินหรือบุคคลใดใช้ประโยชน์หรือดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษอื่น ๆ จนกว่าจะได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
เนื่องจากการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม มีขั้นตอนและกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลา การสั่งห้ามมิให้เจ้าของที่ดินหรือบุคคลใดใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจึงมีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา อีกทั้ง จะเป็นแรงกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินเร่งดำเนินการฟื้นฟูและขจัดมลพิษให้กลับสู่สภาพเดิม และสามารถป้องปรามการเกิดเหตุการณ์ลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต
“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้เร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหลอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะแจ้งข้อมูลความคืบหน้าและสื่อสารกับประชาชนให้ทราบอย่างต่อเนื่อง”