การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคของสหรัฐล่าสุดนั้นปรับตัวลงเหลือ 2.9% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ตลาดทุนมั่นใจมากขึ้นอีกขั้นหนึ่งว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาได้อย่างแน่นอนในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนกันยายน

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ประมาณ 2-3 ครั้ง แปลว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ปัจจุบันอยู่ที่  5.25-5.50% จะลดลงเหลือ 4.50-5.00% ในปลายปีนี้

โดยเสียงส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (soft landing) ได้ในที่สุด

ผมคิดว่า มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงรุนแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า

ซึ่งตัวเลขสำคัญที่ตลาดจะต้องจับต้องดูอย่างใกล้ชิดคือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสำหรับเดือนสิงหาคม ที่จะประกาศออกมาในวันที่ 6 กันยายนนี้

และหากตัวเลขที่ออกมาสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐก็จะทำให้ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากปะทุขึ้นมาอีก

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เช่น หากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นเพียงหนึ่งแสนตำแหน่ง ไม่ใช่สองแสนตำแหน่ง และอัตราการว่างงานขยับขึ้นไปอีก โดยไปอยู่ที่ 4.5% เป็นต้น นอกจากนั้น การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่ได้ชะลอตัวลงก็จะเป็นตัวเลขที่สำคัญอีกตัวหนึ่งด้วย

หากตัวเลขที่กล่าวข้างต้นออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์มาก ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงแรงมากเกินคาดในไตรมาส 3 ซึ่งปัจจุบัน ดัชนีชี้นำการประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 คือตัวเลข GDP Now ของธนาคารกลางสหรัฐสาขาแอตแลนต้า

คาดการณ์ว่า จีดีพีของสหรัฐในไตรมาส 3 นั้น จะขยายตัวสูงถึง 2.9% ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 2 ที่ 2.8% แปลว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังร้อนแรงอยู่มาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐนั้นปัจจุบันผลิตเต็มศักยภาพแล้ว

และธนาคารกลางสหรัฐประเมินว่า ในระยะยาวเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้เพียง 2.0% ต่อปี หากต้องการไม่ให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

หากจีดีพีสหรัฐขยายตัวได้ 2.9% จริงในไตรมาส 3 และอัตราเงินเฟ้อยังลดลงได้อย่างต่อเนื่องในอีก 2 เดือนข้างหน้า ก็จะยิ่งทำให้ผมมั่นใจมากขึ้นไปอีกว่า รองประธานาธิบดี Harris จะสามารถเอาชนะอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ในการเลือกตั้งสหรัฐวันที่ 5 พฤศจิกายน

ทั้งนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น ผู้ได้รับชัยชนะต้องได้คะแนนเลือกตั้งจากมลรัฐ (electoral vote) รวมกันให้ได้ 270 คะแนนขึ้นไป (จากทั้งหมด 538 คะแนน)

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่สำคัญคือ คะแนนเลือกตั้งจาก มลรัฐที่ได้มานั้น เป็นแบบ Winner takes all เช่น ในปี 2020 ประธานาธิบดีไบเดน ได้คะแนนเสียงจากประชาชนในมลรัฐเพนซิลเวเนียรวมทั้งหมด 3,458,229 คะแนน ชนะอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ได้คะแนน 3,377,674

กล่าวคือชนะไปทั้งสิ้น 80,55 เสียง หรือชนะเพียง 1.2% (50.6% -- 49.4%)  แต่ประธานาธิบดีไบเดน ได้คะแนนเลือกตั้ง (electoral vote) ทั้งหมด 20 คะแนนของมลรัฐเพนซิลเวเนีย ไม่ได้มีการแบ่งเป็นสัดส่วน electoral vote คำนวนจากคะแนนเสียงจากประชาชนที่ลงคะแนนให้กับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์แต่อย่างใด

ประเด็นคือ การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของทัศนะของประชาชนในมลรัฐขนาดใหญ่ที่ไม่มีจุดยืนชัดเจน (swing state) เช่น มลรัฐเพนซิลเวเนียนั้น จะเป็นปัจจัยที่จะตัดสินผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ดังนั้น ความพึงพอใจ หรือความไม่พอใจ ในตัวของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ หรือรองประธานาธิบดี Harris หรือความรู้สึกที่ดีขึ้นหรือแย่ลง เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งของสหรัฐได้โดยง่าย

ดังนั้น ในความเห็นของผม ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วง 75 วันข้างหน้า จะมีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินผลการเลือกตั้งของสหรัฐ

และหากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงมากเกินคาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงมากถึง 0.50% ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในกลางเดือนกันยายนนี้ ทำให้ตลาดหุ้นพึงพอใจและปรับตัวสูงขึ้น

กล่าวคืออาจเป็นข่าวดีของตลาดหุ้น แต่ชาวบ้านจะไม่ได้รู้สึกพึงพอใจและพลิกไปลงคะแนนเสียงให้กับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะประชาชนจะต้องมองว่าเศรษฐกิจไม่ดีเป็นเพราะรัฐบาลบริหารเศรษฐกิจได้ไม่ดี

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในทางตรงกันข้าม หากรองประธานาธิบดี Harris โชคดี เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงไม่มาก และสิ่งที่ชะลอตัวลงคือเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว เสียงสนับสนุนรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น

ทำให้รองประธานาธิบดี Harris ชนะการเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องลุ้นมาก ซึ่งจะทำให้หลายคนและหลายประเทศในโลกโล่งใจขึ้นอย่างมากตอนปลายปีนี้ และปีต่อๆไป

ทั้งนี้ แม้ว่ารองประธานาธิบดี Harris และ ผู้ว่าการมลรัฐ Minnesota นาย Tim Walz ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ คงจะมุ่งมั่นเก็บภาษีเพิ่ม โดยเฉพาะเก็บภาษี คนรวยเพิ่มขึ้นครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร