จ.สุโขทัยน้ำท่วมหนัก พื้นที่เกษตรเสียหาย 2 พันไร่ ที่เหลือเป็นเขตรับน้ำ
กรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจสอบพื้นที่ประสบภัยพิบัติจังหวัดสุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว พื้นที่รับน้ำ รวมทั้งพื้นที่บางระกำโมเดล คาดว่าพื้นที่เกษตรเสียหาย 2,087 ไร่ พร้อมวางแนวทางลดความเสียหาย
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานภัยพิบัติ (ด้านพืช) ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วม และรายงานข้อมูลความเสียหายเบื้องต้น พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ต่อคณะอำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืชแล้ว
โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยได้ประสานข้อมูลร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอและผู้นำท้องถิ่น เพื่อยืนยันตัวเลขพื้นที่ความเสียหายจากภาพถ่ายดาวเทียม ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า(GISTDA)แล้ว พื้นที่ที่กำลังประสบภัยพิบัติน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว และพื้นที่รับน้ำ รวมทั้งพื้นที่บางระกำโมเดล
ขณะนี้ มีพื้นที่การเกษตรในจังหวัดสุโขทัยได้รับผลกระทบ จำนวน 3 อำเภอ 5 ตำบล 9 หมู่บ้าน ที่รายงานข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นจากอุทกภัย (ด้านพืช) มีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 2,087 ไร่ ประกอบด้วย
1. อำเภอเมืองสุโขทัย พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 2,015 ไร่ (จำนวน 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน)
2. อำเภอสวรรคโลก พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 50 ไร่ (จำนวน 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน)
3. อำเภอกงไกรลาศ พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 22 ไร่ (จำนวน 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน)
กรมส่งเสริมการเกษตร ห่วงใยเกษตรกรจึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรไว้ใช้เป็นแนวทางการติดตาม ป้องกันและลดผลกระทบของพื้นที่การเกษตรจากสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ และแนวทางการดำเนินการ 4 ด้าน ดังนี้
ระยะที่ 1) ก่อนเกิดภัย ได้แก่ ด้านการป้องกัน (Prevention) และด้านการเตรียมความพร้อม (Preparation)
ระยะที่ 2) ขณะเกิดภัย ได้แก่ ด้านการเผชิญเหตุ (Response)
ระยะที่ 3) หลังเกิดภัย ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู (Recovery) และได้จัดตั้งศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติด้านพืช กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อ ติดตามรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำ สถาณการณ์การเพาะปลูกและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ประมวลผล จัดทำแผนที่ และประเมินความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบและความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตร และแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรทราบอย่างรวดเร็วและทัน ต่อสถานการณ์
นอกจากนี้ได้ติดตาม เร่งรัด การดำเนินงานตามนโยบาย มาตรการ แผนงาน/โครงการ และแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืช และรายงานให้ศูนย์ติดตาม แก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้องเหมาะสมต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งรายงานข้อมูลความเสียหาย และการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ต่อคณะอำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืช
ประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ จัดทำคำแนะนำข้อมูลข่าวสาร และข้อเสนอที่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึง คำแนะนำ ในการปฏิบัติดูแลรักษาพืช ตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร “พร้อมเป็นเพื่อนคู่คิด และมิตรแท้ของเกษตรกรในทุกสถานภารณ์ที่เกิดประโยชน์สาธารณะ ที่มิได้คำนึงเพื่อเพียงกาลปัจจุบัน”