‘นายกฯ‘ พบสมาคมธนาคารไทย ถกร่วมมือแก้หนี้ครัวเรือน

‘นายกฯ‘ พบสมาคมธนาคารไทย ถกร่วมมือแก้หนี้ครัวเรือน

“นายกฯ” พบสมาคมธนาคารไทย รับฟังข้อเสนอแนะ ผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ เติมเงิน SME เข้าถึงสินเชื่อ “พิชัย” หวังธนาคารร่วมมือแก้หนี้ครัวเรือน ลดภาระประชาชน

วันนี้ (23 ส.ค.) ตัวแทนภาคเอกชนไทย ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย-จีน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงสมาคมธนาคารไทย เดินทางเข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อาคารชินวัตรทาวน์เวอร์ 3 ถนน วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อหารือและเสนอแนะถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยากให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยส่งเสริมผลักดัน

นายกฯ กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการสอบถามพูดคุย พบว่าการลงทุนมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ข้อดีคือการเป็นรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย นโยบายต่างๆ จะต่อเนื่อง การพบกับภาคเอกชนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะขอหารือเป็นระยะ

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วาระหลักของรัฐบาลในขณะนี้ คือการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่มีอยู่กว่า 16 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ในระบบประมาณ 13 ล้านล้านบาท และยังมีหนี้นอกระบบ และหนี้สหกรณ์ พร้อมเสนอให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้ หากทำได้ จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นได้ คนที่คิดวิธีการได้ดีที่สุด คือเจ้าหนี้  ส่วนกระทรวงการคลัง จะยืนอยู่ข้างหลังเพื่อให้ทำงานสอดรับกัน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เราอยากเห็นธนาคารของไทย เข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายรัฐบาลให้มากขึ้น พร้อมทั้งได้เปิดเผยความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินนโยบาย Finacial Hub ว่าอยู่ในขั้นตอนร่างกฎหมาย และคาดว่า 3-4 เดือนจะมีความชัดเจน ส่วนการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency : NaCGA) ตัวร่างกฎหมายคืบหน้า 95% แล้ว 

สำหรับข้อเสนอของสมาคมธนาคารไทย โดยนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ สรุปปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ 5 ด้าน ได้แก่ 

ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ 5 ด้าน ได้แก่ 

1.ปัญหาหนี้ครัวเรือน 91.4% ต่อจีดีพี และ 27% ของครัวเรือนเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ โดยที่รุนแรงคือหนี้รถ หนี้บ้าน 

2.แผลเป็นด้านรายได้ 

3.เศรษฐกิจนอกระบบสูง 

4.ไม่พร้อมในการก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่

5.Safety net ไม่ครอบคลุม  รายไดไม่พอรายจ่าย ไม่มีเงินออม

ข้อเสนอ 5 แนวทาง ได้แก่ 

1.ผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบ จะสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจได้สูง สร้างรายได้ให้ทันรายจ่าย 

2.เติมเครื่องมือเพื่อช่วยให้ SMEs เพื่อให้ปรับตัวได้และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ

3.แก้หนี้ครัวเรือนและให้สินเชื่ออย่างยั่งยืน  

4.เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและก้าวทันกระแสโลก

5.เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ด้วยการเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค สร้างความต่อเนื่องของโครงการ EEC

นายผยง กล่าวว่า รัฐบาลมองในมิติที่ยืดหยุ่นขึ้น connect the dots ที่มีจุดเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับเราที่แก้หนี้ครัวเรือนให้ครบจบ รัฐบาลมองหนี้บ้าน และรถที่เป็นปัญหาของชนชั้นกลาง เดี๋ยวขอไปทำการบ้านต่อ

การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่

1.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

2.นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

3.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

4.นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

5.นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

6.นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

7.นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

8.นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

9.นางสาวธีราภา ไพโรหกุล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

รายชื่อสมาคมธนาคารไทย ได้แก่

1.นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย 

2.นายชาติศิริ โสภณพนิช ที่ปรึกษาสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ 

3.ดร.ปิติ ตัณฑเกษม กรรมการสมาคมธนาคารไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต 

4.ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย 

5.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ 

6.ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ประธานชมรมนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ สมาคมธนาคารไทย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย 

7.นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย