สภาพัฒน์ชี้อัตราว่างงานสูงสุดรอบเกือบ 2 ปี ห่วง SME เลิกจ้าง – ผลกระทบอุทกภัย
"สภาพัฒน์" เผยตัวเลขว่างงานไตรมาส 2 /67 1.07% 4.3 แสนคน หลังจากการว่างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น สูงสุดรอบเกือบ 2 ปี ชั่วโมงว่างงาน และค่าจ้างงานเอกชนทรงตัว ห่วง SME เลิกจ้าง – ผลกระทบอุทกภัย และการปรับตัวของแรงงานให้ทันเทคโนโลยี ส่งผลต่อแรงงานต่อไปในอนาคต
สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยจากผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยตามการจ้างงานภาคเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาการขนส่ง และเก็บสินค้า โดยแนวโน้มการจ้างงานในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2567 ว่าภาพรวมการจ้างงานในไตรมาส 2 (เม.ย. - พ.ค.) ที่ผ่านมาสถานการณ์แรงงานภาพรวมการจ้างงานปรับตัวลดลง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 0.4% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวที่ 1.5% อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1.07% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน ทั้งนี้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ถือว่าสัดส่วนการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นครั้งแรกหลังจากช่วงหลังการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นในรอบเกือบ 2 ปี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ว่างงานที่เพิ่มขึ้น สศช.คาดว่าจะลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ตามลำดับ โดยในไตรมาสที่ผ่านมา มีปัจจัยที่ทำให้การว่างเพิ่มขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ทำให้เกษตรกรหยุดการเพาะปลูก ขณะที่การว่างงานนอกภาคเกษตรมาจากช่วงที่มีบัณฑิต และนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่ได้มีงานทำ
ขณะที่ภาคการผลิตโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีการเลิกกิจการไปบางส่วนจากผลกระทบในเรื่องการที่ต้นทุนทางการเงินสูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน รวมทั้งการที่มีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดทำให้เอสเอ็มอีบางรายแข่งขันไม่ได้ต้องเลิกกิจการไป ทำให้มีแรงงานที่ตกงานจากปัญหานี้ด้วย
ทั้งนี้ในภาพรวมการว่างงานในไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยไตรมาสสอง ปี 2567 ผู้ว่างงานมีจำนวน 4.3 แสนคน เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.07% เพิ่มขึ้นจาก1.06% จากปีที่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
สำหรับผู้ว่างงานระยะยาวยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ลดลงร้อยละ 5.5.%หรือมีจำนวนประมาณ 7 หมื่นคน สำหรับอัตราการว่างงานในระบบ อยู่ที่ 1.92% ของผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 2.3 แสนคน ลดลง7.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 42.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นายดนุชากล่าวว่าสำหรับสาขาธุรกิจที่ยังมีการจ้างงานสูงเป็นสาขาที่ธุรกิจได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยว เช่นสาขาโรงแรมและภัตตาคารยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัว แต่ขายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย สำหรับในประเทศของชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 42.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสอง ปี 2566 0.3% ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงเล็กน้อย 0.1% โดยผู้ทำงานล่วงเวลาหรือผู้ที่ที่ที่มีชั่วโมงการทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นขึ้น 2.5% โดยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาการผลิต ขณะที่มีผู้ทำงานต่ำระดับลดลงต่อเนื่องกว่า 19.8% และผู้เสมือนว่างานลดลง 8.7%
ค่าจ้างแรงงานเอกชนทรงตัว
ในส่วนของค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนอยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือนขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมของกลุ่มแรงงานในระบบ (ตามการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิม) อยู่ที่ 15,329 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลงจากไตรมาสสอง ปี 2566 เล็กน้อยที่ 0.5% ทั้งนี้หากพิจารณาระดับค่าจ้างของกลุ่มแรงงานประกอบอาชีพอิสระร่วมด้วย จะพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 16,284 บาทต่อคนต่อเดือนนอกจากนี้ ผลของเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลงด้วย
จับตาผลกระทบ 3 ด้านแรงงานไทย
อย่างไรก็ตามสถานการณ์แรงงานของไทยมีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 3 ข้อ ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่
1. การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยปัจจุบันภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการพัฒนาการทำงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งกับคู่แข่งภายในและภายนอกประเทศ โดยรายงาน Future of Job Report 2023 ของ World Economic Forum (WEF) พบว่า 44 % ของทักษะแรงงานจะหายไปในอีก 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งภายในปี 2027งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และจะนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก แรงงานจึงต้องปรับตัวให้ทันเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยรายงานยังระบุอีกว่า ทักษะการคิด วิเคราะห์ (Analytical Thinking) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด ในทักษะหลัก (Core Skill) ขณะที่ทักษะด้านความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี (Technological Literacy) เป็นทักษะที่มี
ความสำคัญมากขึ้นเป็นอันอันดับที่ 3 ทั้งนี้ สำหรับทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี ผลการสำรวจของไมโครซอฟต์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn ยังพบประเด็นเพิ่มเติมว่า ผู้บริหารในไทยกว่าร้อยละ 74 ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI และกว่า 90% เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยแต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนการเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่าแต่ขาดทักษะในด้านนี้อีกด้วย
2. ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน โดย SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก และในปี 2566 มีสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึง 35.2% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน SMMES กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ในไตรมาสสี่ ปี 2566 ที่อยู่ที่ 7.2% เพิ่มขึ้น 4.6% ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2562 โดยเป็นผลมาจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลต่อต้นทุนและเป็นข้อจำกัดในการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ โดยดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย และธุรกิจขนาดกลาง ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.1% และ 2.2% ตามลำดับทำให้ SMEs สามารถทำกำไรไรได้ลดลง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลต่อเนื่องไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน SMEs ได้ จึงอาจต้องมีการดำเนินนโยบายที่สามารถสร้างกำลังชื่อได้อย่างยังยืน รวมถึงการควบคุมต้นทุนด้านต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านการเงินให้แก่ SME
และ 3. ต้องติดตามผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร โดยประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ในบางพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า สถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตรจำนวน 15 จังหวัดครอบคลุมเกษตรกร 47,944 ราย รวมพื้นที่ 308,238 ไร่
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดการณ์ว่าในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567 ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ รวมถึงมรสุมข้างต้นจะกลับมามีกำลังแรง และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่พื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหาย โดยจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร รวมถึงต้นทุนในการลงทุนเพาะปลูกใหม่ และอาจกระทบต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร หน่วยงานจึงต้องมีการเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยทั้งที่กำลังเกิดขึ้นและที่จะเกิดในอนาคต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์