ครม.เคาะงบกลาง 3.5 พันล้าน เติม 'บัตรสวัสดิการรัฐ' ให้พอใช้จ่ายถึงก.ย.นี้

ครม.เคาะงบกลาง 3.5 พันล้าน เติม 'บัตรสวัสดิการรัฐ' ให้พอใช้จ่ายถึงก.ย.นี้

ครม.ไฟเขียวงบประมาณจากงบกลาง 3.5 พันล้าน ให้กับกองทุนประชารัฐสวัสดิการ เติมเงินให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปจนถึงเดือนก.ย.นี้ สำนักงบฯ เผยมีงบประมาณพอในการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ 27 ส.ค.67 มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 3,500 ล้านบาท จากงบกลางวงเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2567  เพื่อเป็นงบประมาณสมทบให้กับกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่จะใช้งบประมาณในส่วนนี้ไปจัดสรรให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งนี้ การจัดสรรงบกลางให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมจะทำให้มีงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีประชาชนได้สิทธิประมาณ 14.9 ล้านคน โดยสามารถจัดสรรวงเงินได้ในเดือนก.ย.และเพียงพอที่จะใช้ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค.ปีนี้

“กองทุนประชารัฐฯ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 67 วงเงินเหลืออยู่ 6,000 กว่าล้านบาท แต่กองทุนประชารัฐ จะจ่ายทุกเดือนละ 4,900 กว่าล้านบาท การอนุมัติงบประมาณส่วนนี้ทำให้กองทุนฯ มีเงินใช้เพียงพอจนสิ้นสุดปีงบประมาณ” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าว

 

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และสังคม(กองทุนฯ)มีการจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) ปี 2565 จำนวน 14.98 ล้านคน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ซึ่งมีสวัสดิการประกอบด้วย

1.)การจัดประชารัฐสวัสดิการใหม่สำหรับผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการฯ ปี 2565 ประกอบด้วย

- วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน

- วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

- วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน

- มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 335 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนดผู้มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีสิทธิฯ) จะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด

และ มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา อุดหนุนค่าน้ำประปา จำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีสิทธิฯ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาท ด้วยตนเอง แต่หากผู้มีสิทธิฯ มีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีสิทธิฯ จะเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566

2.)การเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการ จากจำนวน 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นจำนวน 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ในเบื้องต้นเฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563

โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 กองทุนฯ มียอดเงินคงเหลือ 3.26 พันล้านบาท โดยในปึงประมาณ พ.ศ. 2567 กองทุนฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 50,015,273,900 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจัดสรรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิฯ จำนวน 49,908,225,100 บาท

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนฯ สำหรับการจัดสรรสวัสดิการตามนัยข้อ 1 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (1 ตุลาคม 2566 - 31 กรกฎาคม 2567) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 46,681,222,340.42 บาท

ทั้งนี้ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2567 บัญชี “กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 1” สำหรับใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เป็นความช่วยเหลือในการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการฯ ปี 2565 มีสถานะคงเหลือ 6,355,940,753.48 บาท (ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง)

โดยมีประมาณการค่าใช้จ่ายในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 เดือนละ 4,925,000,000 บาท จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3.5 พันล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจัดสรรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิ ต่อไป

สำหรับ งบประมาณในการรับมือกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้รัฐบาลมีวงเงินเพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสามารถจัดสรรจากงบกลางที่เหลืออยู่ซึ่งมีความเพียงพอ และระยะเวลาในปีงบประมาณนี้เหลือไม่มากคือ จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2567

จากนั้นจะเข้าสู่งบประมาณปี 2568 รัฐบาลก็จะมีงบกลางก้อนใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และฟื้นฟูผู้ประสบภัยได้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์